xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ เผยความคืบหน้าวัคซีน Covid-19 คาดได้ใช้จริงปีหน้า ตั้งเป้าพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เสวนา Chula The Impact ครั้งที่ 5 เรื่อง “ความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ของจุฬาฯ นวัตกรรมของไทย ความหวังของโลก”
เมื่อเร็วๆ นี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา Chula The Impact ครั้งที่ 5 เรื่อง “ความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ของจุฬาฯ นวัตกรรมของไทย ความหวังของโลก” ณ ห้อง 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาฯ นำเสนอความคืบหน้าล่าสุดของการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งวัคซีน ChulaCov19 วัคซีนชนิด mRNA ประสิทธิภาพสูง โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และวัคซีนจุฬาฯ-ใบยา วัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิตสกัดจากใบพืชชนิดแรกของไทย โดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และร่วมเสวนากับวิทยากร ประกอบด้วย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 และ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และ CEO & Co Founder บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผู้ร่วมคิดค้นวัคซีนป้องกัน Covid-19 จากใบพืชตระกูลยาสูบ (วัคซีนจุฬาฯ-ใบยา)

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการพัฒนาวัคซีน Chula-Cov 19 วัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA ซึ่งดำเนินการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีการทดสอบในอาสาสมัคร 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอายุ 18-55 ปี จำนวน 36 ราย และกลุ่มอายุ 56-75 ปี จำนวน 36 ราย ฉีดวัคซีน 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ ผลเบื้องต้นในกลุ่มอายุ 18-55 ปี พบว่าวัคซีนกระตุ้นภูมิกันได้ดีมาก ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง โดยอาสาสมัครมีอาการข้างเคียงเล็กน้อยถึงปานกลาง อาการจะดีขึ้นภายใน 1 ถึง 2 วัน 

นอกจากนี้ยังได้ทดสอบในกลุ่มผู้สูงวัย อายุ 55-75 ปี จำนวน 150 รายด้วย ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อเตรียมการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 ต่อไป โดยเปรียบเทียบกับวัคซีนคู่เทียบ (Pfizer) ทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพและความปลอดภัย ซึ่งจะมีการรับสมัครอาสาสมัครในช่วงเดือนธันวาคม เริ่มทำการทดสอบในช่วงต้นปีหน้าและคาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือนมีนาคม 2565 พร้อมๆ กับการศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนเข็มกระตุ้น การทดสอบในกลุ่มอาสาสมัครที่มีอายุน้อยลง การเตรียมความพร้อมขยายกำลังการผลิตวัคซีน ร่วมกับบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อมสำหรับวัคซีนรุ่นที่ 2 และ 3 ที่ตอบสนองต่อเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มทำการทดลองในสัตว์ทดลอง (หนู) เรียบร้อยแล้ว อีกด้วย

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่าจุดเด่นของวัคซีน Chula-Cov 19 คือเรื่องของการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพมาก และสามารถป้องกันเชื้อข้ามสายพันธุ์ได้ทั้งใน B Cells และ T Cells โดยเฉพาะใน T Cells ที่สูงกว่า Pfizer ถึง 2 เท่า หลังฉีดโดสที่ 2 ใน 7 วัน ซึ่งต้องรอพิสูจนือีกครั้งในการทดสอบระยะที่ 3 ต่อไป รวมถึงการออกแบบตัวเนื้อวัคซีนที่ต่างจาก วัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ไม่ติดในเรื่องของสิทธิบัตร ส่วนตัวห่อหุ้มที่ซื้อสิทธิบัตรมาใช้ก็เป็นเทคโนโลยีล่าสุด รวมถึงสูตรของวัคซีนที่เก็บได้นานกว่า คือสามารถเก็บในอุณหภูมิที่ 2-8 องศา ได้นานถึง 3 เดือน


สำหรับเรื่องของงบประมาณ จำนวน 2,300 ล้านบาทที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล ซึ่งมอบอำนาจให้ทางคณะแพทยศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบริหารด้วยตัวเอง ศ.นพ.เกียรติ ยืนยันว่าจะนำไปจัดสรรใช้อย่างเหมาะสม ทั้งในเรื่องของการพัฒนาวัคซีน การวิจัยในอาสาสมัคร และเรื่องของวัตถุดิบและการผลิตหลังขึ้นทะเบียนกับ อย. โดยคาดการณ์ว่า จะสามารถขออนุมัติใช้ได้เร็วที่สุดคือช่วงกลางปี 2565 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน – กันยายน แต่ทั้งนี้ก็ต้องเผื่อใจหากผลการทดสอบที่ได้ในเฟสที่ 3 ล้มเหลว

“บทเรียนที่ซ้ำซากของเราคือ การที่จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของคนอื่นไปเรื่อยๆ ถามว่าทำไมต้องทำวัคซีนเอง ทำไมไม่ซื้อใช้ จะเห็นได้ว่าในช่วงแรกๆ ต่อให้มีเงินก็ซื้อไม่ได้ หรือซื้อได้ก็ต้องรอ วันนี้เราอาจจะช้ากว่า แต่ในวันหน้าเราจะพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้นและทันท่วงที เราต้องมองไกล สิ่งนี้มันคือการลงทุนเพื่อความมั่นคงทางด้านสุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจของประเทศ เป็นความมั่นคงที่ต้องมีอย่างยั่งยืน” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว

ด้าน ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา ตชคุณวุฒิ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และ CEO & Co Founder บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เผยถึงความคืบหน้าของวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชตระกูลยาสูบสปีชีส์ “N. benthamiana” ซึ่งใช้ระบบการผลิต recombinant protein โดยการตัดต่อพันธุกรรมของแบคทีเรียที่ ก่อโรคในพืชในใบยาสูบ ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบและสร้างโรงงานผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการผลิตวัคซีนจากระบบดังกล่าวสำเร็จเรียบร้อยแล้ว มีกำลังการผลิตจำนวน 1-5 ล้านโดสต่อเดือน ส่วนวัคซีนอยู่ในระหว่างการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 โดยได้เริ่มฉีดให้กับอาสาสมัครช่วงอายุ 18-60 ปี จำนวน 96 ราย ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ยังอยู่ในช่วงการติดตามผลทั้งเรื่องของความปลอดภัยและประสิทธิภาพ (50 วัน) เบื้องต้นยังไม่พบผลข้างเคียงที่น่ากังวล แต่เรื่องของประสิทธิภาพยังต้องรอข้อมูล สำหรับการทดสอบในเฟสที่ 2 ในกลุ่มผู้สูงอายุ (61-75 ปี) ก็เริ่มมีการรับอาสาสมัครแล้วแต่ยังได้อาสาสมัครไม่ครบ เนื่องจากผู้สูงวัยใน กทม. ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนเกือบครบแล้ว ทั้งนี้การทดสอบในมนุษย์ของวัคซีนใบยามี ศ.นพ.เกียรติ ร่วมเป็นนักวิจัยทางคลินิกด้วย นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้พัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง โดยปรับปรุงสูตรให้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น และมีการพัฒนาจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์มากกว่า 10 รูปแบบ เพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนผสม (Cocktail vaccine) ซึ่งปัจจุบัน วัคซีนรุ่นที่สองก็ได้รับการพัฒนาขึ้นแล้ว และมีการทดสอบในอาสาสมัครเฟสแรกในช่วงเดือนมกราคม 2565 เพื่อคัดเลือกวัคซีนตัวที่ดีที่สุดไปทดสอบในเฟสที่ 2 ต่อไปในช่วงเดือนกุมภาพันธ์

สำหรับจุดเด่นของวัคซีนจุฬาฯ-ใบยา คือเป็นวัคซีนที่ผลิตขึ้นโดยเทคโนโลยีแพลตฟอร์มและองค์ความรู้ที่สามารถปรับเปลี่ยนและผลิตได้หลากหลายทั้งวัคซีนและยารักษาโรคต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในทางการแพทย์ หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน และพบวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 คาดว่าจะสามารถขออนุมัติให้ใช้ได้ อย่างเร็วที่สุด คือในไตรมาสที่ 3 หรือ 4 ของปี 2565

“เราไม่เคยพัฒนายาใหม่หรือวัคซีนขึ้นเองได้ แต่ตอนนี้เราทำได้ในระยะเวลาแค่สองปี ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีและภาคภูมิใจ แต่เราจะทำไม่ได้เลยหากไม่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการพัฒนาที่มีมาก่อนหน้านี้ ถึงแม้วันนี้มันจะยังไม่ดีที่สุด แต่เราเริ่มเห็นแล้วว่าประเทศเราต้องขับเคลื่อนแบบนี้ คือขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้และวิทยาศาสตร์ที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้” ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าวทิ้งท้าย