xs
xsm
sm
md
lg

“มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” ชวนคนไทยร่วมสร้าง 11 รากแก้วแห่งความดีให้สังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ความดี” ต้องมีรากฐานที่มั่นคง จึงจะดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” องค์กรสาธารณกุศลที่มุ่งมั่นบรรเทาทุกข์ และบำรุงสุขให้แก่เพื่อนมนุษย์ ยืนหยัดในการทำความดีปฏิบัติงานช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัยและทำงานด้านสังคมสงเคราะห์มายาวนานกว่า 110 ปี ยังคงเดินหน้าสืบสานปณิธาน ‘ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต’ 


พร้อมชวนคนไทยร่วมสร้าง 11 รากแก้วแห่งความดี ภายใต้การทำความดี 11 รูปแบบ ซึ่งเป็นการทำความดีง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ เพื่อช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งความดีที่ยั่งยืน

รากแก้วลำดับแรก คือ “สติ” สิ่งสำคัญที่เริ่มได้จากตัวเอง สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิต อย่างเรื่องการขับขี่ยานพาหนะ เริ่มจากการคาดเข็มขัดนิรภัย หรือสวมหมวกกันน็อก ไม่ขับขี่ขณะมึนเมา และโฟกัสการขับขี่ตลอดเส้นทาง ไปจนถึงการช่วยแจ้งเหตุเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น โดยสามารถโทรไปที่สายด่วน “ป่อเต็กตึ๊ง 1418” หรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน “ป่อเต็กตึ๊ง 1418” แอปฯ แรกในไทย ดาวน์โหลดได้ฟรี ใช้งานง่าย สามารถติดตามการช่วยเหลือฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที ตามแนวคิด “ช่วยจริง อุ่นใจ แม้ในนาทีฉุกเฉิน” ซึ่งผู้ใช้สามารถส่งพิกัดสถานที่ และติดตามสถานะการช่วยเหลือได้

รากแก้วลำดับที่สอง “ถนนหนทาง หรือพื้นที่สาธารณะ” ทุกคนสามารถช่วยกันรักษาความสะอาด เช่น ไม่ทิ้งขยะบนท้องถนนหรือแม่น้ำลำคลอง ไม่วางของลุกล้ำไหล่ทาง หรือไม่เผาป่าข้างทาง ที่จะทำให้เกิดควันพิษส่งผลต่อทางเดินหายใจ และอาจบดบังทัศนวิสัยของผู้ใช้รถใช้ถนน


รากแก้วลำดับที่สาม “ช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ” อาจไม่ต้องยิ่งใหญ่แค่ช่วยด้วยหัวใจก็เพียงพอ อาทิ บริจาคเงินตามกำลัง บริจาคสิ่งของของอุปโภค-บริโภค รวมถึงการแชร์ข้อมูลข่าวสารเพื่อขยายความช่วยเหลือสู่วงกว้าง

รากแก้วลำดับที่สี่ “การช่วยเหลือผู้คนในยามวิกฤตการณ์โรคระบาด” เช่น การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน เริ่มจากเรื่องง่าย ๆ คือ การป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยห่างไกลโรค หากมีกำลังก็สามารถบริจาคเงินสมทบทุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือร่วมแรงในการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือส่วนต่าง ๆ ที่พอจะทำได้

รากแก้วลำดับที่ห้า “การช่วยสนับสนุนให้เยาวชนเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา” ช่วยเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาชน ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงินสมทบทุนการศึกษา หรือลงแรงช่วยเหลือเด็กและเยาวชนผู้มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมผลิตหนังสือเสียง เป็นต้น

รากแก้วลำดับที่หก “การสนับสนุนคุณภาพชีวิตของคนชราและผู้ยากไร้” ให้มีปัจจัยดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน และมีโอกาสในการประกอบอาชีพ เพื่อสามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น นอกจากเป็นการช่วยลดภาระให้กับประชากรวัยทำงานแล้ว การช่วยเหลือดังกล่าวยังเป็นการสร้างคุณค่าและกำลังใจให้พวกเขาสู้ชีวิตต่อไป

รากแก้วลำดับที่เจ็ด “การช่วยเหลือผู้พิการให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับทุกคนในสังคมได้ตามปกติ” ด้วยการพัฒนาการออกแบบพื้นที่สาธารณะ ให้มีทางลาดสำหรับรถเข็น มีทางเท้าเรียบ และมีเบรลล์บล็อก หรือช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการเล็กๆ น้อยๆ อย่างการพาข้ามถนน เดินนำทาง รวมไปถึงการบริจาคทุนหรือวัสดุสำหรับทำขาเทียม

รากแก้วลำดับที่แปด “การสร้างอนาคตที่ดีให้กับเด็ก” พร้อมเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เติบโตอย่างที่อยากจะเป็น อนุเคราะห์ช่วยเหลือในสถานสงเคราะห์เด็ก สนับสนุนเงิน หรือสิ่งของที่จะเป็นประโยชน์กับการเรียนรู้ของเด็ก ๆ รวมไปถึงไม่สนับสนุนการใช้แรงงานเด็ก


รากแก้วลำดับที่เก้า “ละเว้นการเบียดเบียนสัตว์” ช่วยเหลือคนแล้ว อย่ามองข้ามการช่วยเหลือสัตว์น้อยใหญ่ ด้วยการไม่เบียดเบียน นำสัตว์ไปปล่อยให้เป็นภาระสังคม ให้อาหารสัตว์จรจัด หรือการไถ่ชีวิตโคกระบือ

รากแก้วลำดับที่สิบ “การช่วยกันพัฒนาชุมชน” ไม่ว่าจะเป็นชุมชนที่ตนเองอยู่อาศัย หรือชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากโอกาสและขาดคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น ช่วยเหลือกิจกรรมชุมชน รักษาความสะอาด หยิบยื่นน้ำใจให้กับเพื่อนบ้าน หรือ การออกค่ายอาสาพัฒนาในต่างจังหวัด

และรากแก้วลำดับที่สิบเอ็ด “การทำความดีง่ายๆ กับสิ่งรอบตัว” เริ่มจากหน่วยเล็กๆ กับการช่วยเหลืองานภายในครอบครัว การเคารพซึ่งกันและกัน การมองเห็นคุณค่า ไม่กดหรือลดคุณค่าผู้อื่นจากวิธีใด ๆ ก็ตาม

การทำความดีแต่ละครั้งก็เปรียบเสมือนการรดน้ำพรวนดินให้ต้นไม้ใหญ่ที่เรียกว่า “สังคม” เติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง โดยหลังจากทำความดีในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งแล้วก็สามารถนำเรื่องราวเหล่านั้นมาส่งต่อให้กับผู้อื่นได้ เพียงบันทึกลงบน https://www.ต้นไม้แห่งความดี.com/ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรากแก้วแห่งความดีที่ยั่งยืน