xs
xsm
sm
md
lg

ประกาศผล DJSI 2021 ดัชนีหุ้นยั่งยืนของโลก ไขคำตอบการประเมิน ESG สำคัญอย่างไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หน่วยงานประเมิน ESG มีวิธีการใช้ข้อมูลในการประเมินที่แตกต่างกัน
จากข้อมูลของ SustainAbility ที่เผยแพร่ในเอกสาร Rate the Raters 2020: Investor Survey and Interview Results ระบุว่า จำนวนของมาตรฐานและกรอบการดำเนินงาน ผู้ให้บริการข้อมูล ผู้ประเมินและจัดอันดับด้าน ESG (Environmental, Social, and Governance) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงานประเมินและจัดอันดับด้าน ESG มีอยู่มากกว่า 600 แห่งในปี ค.ศ.2018

สำหรับแหล่งข้อมูลที่ผู้ลงทุนใช้ในการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทที่ลงทุน มากที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่ ข้อมูลจากผู้ประเมิน ESG ข้อมูลจากการสานสัมพันธ์โดยตรงกับบริษัท และข้อมูลจากการเปิดเผยรายงานความยั่งยืนของกิจการ ตามลำดับ

พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า เหตุผลที่ผู้ลงทุนใช้ข้อมูลจากผู้ประเมิน ESG มากที่สุด เนื่องจากมีข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญต่อการสร้างผลตอบแทนการลงทุน และสามารถใช้เป็นข้อมูลเสริมเพิ่มเติมจากบทวิจัยอื่นในแง่ของผลการดำเนินงานและความเสี่ยงด้าน ESG ของกิจการ อีกทั้งยังเป็นข้อมูลซึ่งเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นจากผู้มีส่วนได้เสียหลัก รวมทั้งเป็นแหล่งที่ให้ข้อมูลการดำเนินงาน ESG ของกิจการที่มีคุณภาพและเป็นที่น่าเชื่อถือ

ปัจจุบัน หน่วยงานประเมิน ESG มีวิธีการใช้ข้อมูลในการประเมินที่แตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ค่ายใหญ่ ได้แก่ ค่ายที่ใช้วิธีการประเมินจากการรวบรวมข้อมูลสาธารณะ (Public Information) ที่เปิดเผยในแหล่งต่างๆ อาทิ Bloomberg, Thomson Reuters, MSCI กับค่ายที่ใช้วิธีการขอข้อมูล (Requested Information) จากกิจการ ผ่านแบบสำรวจหรือแบบสอบถามเพื่อทำการประเมิน อาทิ DJSI Index Family ของ S&P Global, CDP, JUST Capital

๐ DJSI: หัวขบวนของดัชนีหุ้นยั่งยืน

S&P Global ในฐานะผู้จัดทำดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) และดัชนี S&P ESG ได้มีการเชิญบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกจำนวนกว่า 5,000 แห่ง ที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกของดัชนีดังกล่าว เข้าร่วมในการประเมินความยั่งยืนของกิจการ (CSA) ในรอบครึ่งปีแรก

ในปีนี้ S&P Global เปิดโอกาสให้บริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจของชุมชนผู้ลงทุนวงกว้าง อีกจำนวนกว่า 5,000 แห่ง ได้แสดงเจตจำนงที่จะเข้าร่วมในการประเมินความยั่งยืนของกิจการ (CSA) ในรอบครึ่งปีหลัง เพิ่มเติมอีกด้วย

ในจำนวนนี้ มีบริษัทจดทะเบียนไทยที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกของดัชนี DJSI (Group A) ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประเมินในปีนี้ จำนวน 37 แห่ง (ไม่ต่างจากปีก่อนๆ นับตั้งแต่ปี 2556) แต่ปีนี้ ได้เพิ่มเติมบริษัทอีก 25 แห่ง ที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกของดัชนี S&P ESG (Group B) และอีก 72 แห่งในรอบหลัง (ที่ไม่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกของทั้งสองดัชนี) รวมบริษัทไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประเมินทั้งหมด 134 แห่ง สำหรับในปี 64 นี้ บริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าอยู่ในดัชนี DJSI มีจำนวน 24 แห่ง (ไม่นับรวม THBEV ที่มิได้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย) (ดูตารางประกอบ)


๐ ส่องผลตอบแทนดัชนี DJSI เทียบกับดัชนี Thaipat ESG

ในมุมมองของผู้ลงทุนโดยใช้ธีม ESG นอกจากการพิจารณาลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีการดำเนินงานโดยคำนึงถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลแล้ว การพิจารณาผลประกอบการในบรรทัดสุดท้าย (Bottom Line) ของกิจการ ยังคงเป็นไฟต์บังคับสำหรับนักลงทุนในการตัดสินใจลงทุน

เมื่อดูผลตอบแทนราคาของดัชนี DJSI World ในรอบปีที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ 5 พ.ย. 64) พบว่า มีตัวเลขผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 27.08% ขณะที่ผลตอบแทนราคาของดัชนี DJSI Emerging อยู่ที่ 24.36% เมื่อเทียบกับดัชนี Thaipat ESG Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบขึ้นจากหลักทรัพย์ ESG100 ที่ทำการประเมินโดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่า มีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 29.72% โดยให้ผลตอบแทนเหนือดัชนี DJSI World (ต่างกัน 2.64%) และ DJSI Emerging (ต่างกัน 5.36%)

๐ 4 หมวดธุรกิจใหม่ ที่ควรเพิ่มในตลาดทุน

มอร์นิ่งสตาร์ ได้ทำการสำรวจมูลค่ากองทุนยั่งยืนในประเทศไทย พบว่า มีอัตราการเติบโตเกือบเท่าตัวจากสิ้นปี ค.ศ.2020 โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท แต่มูลค่าทรัพย์สินเกือบทั้งหมดเป็นการลงทุนในต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่ารวม 5.5 หมื่นล้านบาท หรือราว 97% ของมูลค่าการลงทุนที่ยั่งยืนในประเทศไทย ในขณะที่การลงทุนในประเทศมีมูลค่ารวมเพียง 1.5 พันล้านบาท (ข้อมูล ณ 31 พ.ค. 64)

การเพิ่มโปรดักส์ในตลาดทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนมีตัวเลือกสำหรับการลงทุนที่ยั่งยืน จึงเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ แม้จะมีข้อเท็จจริงว่า ผู้ประกอบธุรกิจในหมวดเหล่านี้ยังมีจำนวนไม่มาก เข้าทำนองว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อน แต่ถ้ารอถึงเวลานั้น ก็อาจจะสายเกินไปต่อการเล่นบทผู้นำตลาดทุน (ที่ยั่งยืน) ในภูมิภาค

การเพิ่มหมวดธุรกิจใหม่สำหรับการเข้าจดทะเบียน เป็นรูปธรรมหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการผลักดันให้การลงทุนที่ยั่งยืนในประเทศไทยมีการเติบโตที่เพิ่มขึ้น โดย 4 หมวดธุรกิจใหม่ ที่ควรพิจารณา ได้แก่

หมวดธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนประกอบ (ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม) ที่สอดรับกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่ง และร่วมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ตามนโยบาย 30/30 คือการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ.2030

หมวดธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ในกลุ่มธุรกิจการเงิน) ที่ยังไม่ต้องถึงขั้นแบบไร้ตัวกลาง (DeFi) แต่เป็นการเงินแบบหลากหลาย (Diversified Finance) ที่ไม่ได้มีเพียงธนาคาร เงินทุนและหลักทรัพย์ หรือธุรกิจประกัน เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างศึกษาการออกใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางในระดับรายย่อย (Retail CBDC) เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนในการใช้จ่ายและชำระเงินที่ปลอดภัย ลดต้นทุนต่อหน่วยของการใช้เงินสดในระบบ เอื้อประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม อีกทั้งได้เริ่มมีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งที่เป็นศูนย์ซื้อขาย (Exchange) นายหน้า (Broker) ผู้ค้า (Dealer) ที่ปรึกษา (Advisor) และผู้จัดการเงินทุน (Fund Manager) ดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ที่ ก.ล.ต. เพิ่มมาเป็นประเภทธุรกิจใหม่ภายใต้การกำกับดูแลในปัจจุบัน

หมวดธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ (ในกลุ่มเทคโนโลยี) ที่จะไปเสริมหนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy) ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเสริมสร้างจุดแข็งของประเทศไทย อาทิ พันธุวิศวกรรม (การดัดแปลงยีน) การผลิตสารเวชภัณฑ์ (เช่น ยา วัคซีน โปรตีนเพื่อการบําบัด) การผลิตชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ การเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อม การผลิตที่ใช้เซลล์จุลินทรีย์ เซลล์พืช และเซลล์สัตว์ในการผลิตสารชีวโมเลกุล สารออกฤทธิ์ชีวภาพ การผลิตวัตถุดิบและ/หรือวัสดุจําเป็นที่ใช้ในการทดลองหรือทดสอบด้านชีววิทยาระดับโมเลกุล รวมทั้งบริการตรวจวิเคราะห์และ/หรือสังเคราะห์สารชีวภาพ

หมวดธุรกิจทรัพยากรหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก (ในกลุ่มทรัพยากร) ที่สอดรับกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน เช่น การใช้เชื้อเพลิงสะอาด การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า และการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน สำหรับรองรับการยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ตามที่ประเทศไทยประกาศในเวทีประชุม World Leaders Summit ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (UNFCCC COP26) ที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน ค.ศ. 2065

การส่งเสริมให้กิจการรายใหม่ มีการจดทะเบียนในหมวดดังกล่าว ด้วยการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ เป็นหนึ่งในมาตรการจูงใจที่สามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดอุปทานในยุค ESG สำหรับการลงทุนที่ยั่งยืนได้

บริษัทไทยที่ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI ประจำปี 2021 จำนวน 25 บริษัท
ในการประกาศผลบริษัทที่ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI ประจำปี 2021 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มี 3 บริษัทไทย ที่ได้รับการจัดอันดับเป็นปีแรก ได้แก่ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) ได้รับการจัดอันดับในกลุ่มดัชนี DJSI World และ DJSI Emerging Markets ขณะที่ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) และ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ได้รับการจัดอันดับในกลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets

สำหรับบริษัทไทยที่ได้รับการประเมินให้อยู่ในดัชนี DJSI World มี 13 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1 บริษัท ได้แก่ 1. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) 2.ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) 3.บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) 4. บมจ. ปตท.(PTT) 5.บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) 6.บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ (THBEV)7. บมจ.อินโดรามาเวนเจอร์ส (IVL) 8.บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC)9. บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) 10. บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) 11.บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(AIS) 12.บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT) และ 13. บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA)

ส่วนบริษัทไทยที่ติดกลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets มี 25 บริษัท เพิ่มจากปีก่อน 3 ราย ซึ่ง 22 บริษัทเป็นสมาชิกเดิม ได้แก่ 1.ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) 2.ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB)3. บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) 4.บมจ. บ้านปู (BANPU) 5.บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) 6.บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) 7. บมจ. ปตท.(PTT) 8.บมจ. ไทยออยล์ (TOP) 9. บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) 10.บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) 11.บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ (THBEV)12.บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU)13.บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL)14.บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) 15. บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา (CPN)16.บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) 17.บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC)18.บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE)19.บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT)20. บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) 21.บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) 22.บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) โดยบริษัทเข้าใหม่ ได้แก่ 23. บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) 24. บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) และ 25. บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS)