ผลวิจัยล่าสุดจากบริติช เคานซิล พบว่าคนรุ่นใหม่กว่า 8,000 คนทั่วโลก ต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้านนโยบายต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และ 75% รู้วิธีแก้ไข แต่ขาดโอกาสเข้าร่วม ด้านการจัดแสดงผลงานภายใต้โครงการ The Climate Connection ในงาน COP26 ดึงเยาวชนทั่วโลกร่วมจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ผ่านงานด้านศิลปวัฒนธรรม การศึกษา และภาษาอังกฤษ สามารถเข้าถึงประชากรกว่า 2,000,000 คนทั่วโลก และได้ทำงานร่วมกันโดยตรงกับเยาวชนจากหลากหลายแขนงกว่า 2,000 คน
จากเวทีการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 ที่มีผู้นำกว่า 196 ประเทศเข้าร่วมประชุมในระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 12 พฤศจิกายน 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ เพื่อร่วมกันหารือแนวทางที่แต่ละประเทศจะใช้ดำเนินการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการประชุม COP26 เป็นการประชุมระหว่างประเทศเพื่อทำความตกลงเรื่องเป้าหมายและมาตรการต่างๆ ในความพยายามควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการตั้งเป้าหมายหลักให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2593
มร. สก็อต แมคโดนัลส์ ผู้อำนวยการบริหาร บริติช เคานซิล กล่าวว่า บริติช เคานซิล ในฐานะองค์กรเพื่อความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและโอกาสทางการศึกษาจากสหราชอาณาจักร ได้เริ่มดำเนินโครงการ “The Climate Connection” โครงการระดับนานาชาติ ที่บริติช เคานซิลทั่วโลกร่วมมือกับหน่วยงานพาร์ทเนอร์ เชื่อมโยงประชาคมโลกเข้าด้วยกันเพื่อจัดการกับสภาวะฉุกเฉินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยเน้นไปที่การทำงานผ่านศิลปวัฒนธรรม การศึกษา และภาษาอังกฤษ มีเป้าหมายหลักไปที่กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 11 - 35 ปี สร้างให้เกิดเป็นกลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะ และเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการกับความท้าทายด้านสภาพอากาศ
โดยตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่บริติช เคานซิล ได้เริ่มเปิดตัวโครงการ Climate Connection นั้น ได้เข้าถึงประชากรโลกผ่านช่องทางสื่อต่างๆ กว่า 2 ล้านคน และได้ทำงานร่วมกันโดยตรงกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในการแก้ปัญหาสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงกว่า 2,000 คนทั่วโลก ซึ่งประกอบไปด้วยเยาวชนจากชุมชนพื้นเมือง ศิลปิน นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ และนักประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ ที่ต่างมารวมตัวกันเพื่อค้นหาวิธีที่สร้างสรรค์อย่างหลากหลายแง่มุมในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน
โดยภายในงาน COP26 บริติช เคานซิล ได้จัดแสดงผลงานต่างๆ ที่ทำภายใต้โครงการ The Climate Connection อาทิ
• กิจกรรม Fashion Open Studio X COP26 Fashion Studio นิทรรศการเปิดสตูดิโอของเหล่าแฟชั่นดีไซน์เนอร์จาก 9 ประเทศ เพื่อโชว์ผลงานจากความคิดสร้างสรรค์และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในการทำงานด้านแฟชั่น โดยมีแบรนด์ ‘ภูคราม’ จากประเทศไทย ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 9 แบรนด์จากทั่วโลก
• กิจกรรม Climate Connection Higher Education and Cultural Policy Roundtable Series ซีรีส์การอภิปรายโต๊ะกลม ที่ได้รวบรวมผู้กำหนดนโยบายของประเทศต่างๆ มาร่วมพูดคุยกันถึงบทบาทของการศึกษาระดับอุดมศึกษา และอุตสาหกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม กับการแก้ปัญหาด้านวิกฤตการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยมีตัวแทนจากประเทศไทย 2 ท่าน ได้แก่ ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์ จาก TDRI และผศ.ดร.ร่มเย็น โกไศยกานนท์จาก SEAMEO เข้าร่วมการอภิปราย
• กิจกรรม Global MOOC for English Teachers คอร์สออนไลน์สำหรับคุณครูสอนภาษาอังกฤษทั่วโลก เพื่อพัฒนาศักยภาพในการนำเอาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ สอดแทรกเข้าไปในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ โดยมีคุณครูภาษาอังกฤษจากประเทศไทยกว่า 550 คนร่วมลงทะเบียนเข้าฟังสัมมนาและเรียนคอร์สออนไลน์นี้
• กิจกรรม Green Careers Fair และ Green Careers Guide ซีรีส์กิจกรรม และการสัมมนาออนไลน์ที่เจาะลึกไปยังอาชีพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแนวทางสำหรับเยาวชน ทั้งที่กำลังต้องการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีขึ้นไป ไปจนถึงผู้ที่สำเร็จการศึกษามาแล้วและต้องการทำงานในอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม
“หนึ่งในไฮไลท์สำคัญของงาน คือ บริติช เคานซิล ได้เปิดผลสรุปเสียงของเยาวชนทั่วโลกจากกิจกรรม Global Youth Letter ที่มีเยาวชนทั่วโลกที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก กว่า 8,000 คน จาก 23 ประเทศ ร่วมลงชื่อ โดยจากผลสำรวจพบว่า 75% ของเยาวชนที่ตอบแบบสอบถามระบุว่า เป็นคนหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในชุมชนของตนเอง และ 69% ไม่เคยเข้าร่วมโครงการหรือกิจกรรมด้านสภาพอากาศ ซึ่งข้อค้นพบจากการวิจัยเหล่านี้ล้วนสนับสนุนต่อแถลงการณ์ของเยาวชนทั่วโลก หรือ COY16’s Global Youth Statement ซึ่งได้แถลงอย่างเป็นทางการต่อ มร.อล็อก ชาร์มา ประธานการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา” มร.สก็อต กล่าวเพิ่มเติม
ทางด้าน นางเฮลก้า สเตลมาเกอร์ ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า บริติช เคานซิล ประเทศไทย ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ The Climate Connection ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2564 โดยเห็นได้จากการมีส่วนร่วมของทั้งคุณครูภาษาอังกฤษ ผู้ทำงานในแวดวงการกำหนดนโยบายอุดมศึกษา แฟชั่นดีไซน์เนอร์ และตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยเองที่ได้เข้าร่วมกับกิจกรรมระดับนานาชาติ นอกจากนี้ ในขณะปัจจุบันยังคงมีกิจกรรมภายใต้ The Climate Connection เกิดขึ้นภายในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิ นิทรรศการ UK and the Climate Change ที่จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในงานมหกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2564 ที่กำลังจัดแสดง ณ อิมแพ็คอารีน่า เมืองทองธานี รวมไปถึงกิจกรรม Social Innovation ในย่านนางเลิ้ง ที่รวบรวมกลุ่มคนจากศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์มาแก้ปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในชุมชน พร้อมๆ กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ถึงแม้โครงการ The Climate Connection และการประชุม COP 26 กำลังจะจบลงเร็ว ๆ นี้ แต่ผลที่เกิดขึ้นต่างๆ จะยังคงสืบเนื่อง จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนต่อไป