เหยี่ยวดำใหญ่ ไทย เพศเมีย ตัวโตเต็มวัย ชื่อว่า “สีดา” รหัส #R197 ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตัวด้วยสัญญาณดาวเทียม บินอพยพจากไซบีเรียถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้นนับเป็นการบินอพยพกลับบ้าน รอบที่สอง
เพจเฟซบุ๊ค Thai
Raptor Group กลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรีในประเทศไทย รายงานสถานการณ์ของเหยี่ยวดำใหญ่ ไทย ว่าเมื่อนอกฤดูผสมพันธุ์พวกมันจะบินอพยพไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อหาแหล่งอาหารที่เหมาะสม อย่างก่อนหน้านี้ เหยี่ยวเพศผู้สองตัว “รักษ์พลี-เทวา” บินกลับมาจากอินเดีย
เช่นเดียวกัน “สีดา” บินไกลหนีหนาวจากแถบไซบีเรียกลับมาไทย เพราะมีอากาศอบอุ่น และแหล่งอาหารสมบูรณ์ ซึ่งในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นช่วงที่นกล่าเหยื่อ “เหยี่ยวดำ” บินอพยพมายังประเทศไทยบริเวณทุ่งใหญ่สาธารณประโยชน์ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก
เส้นทางอพยพกลับมาไทย ที่จังหวัดนครนายก ในครั้งที่สองของสีดา ออกจากไซบีเรีย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ข้ามแม่น้ำอามูร์ ชายแดนจีน-รัสเซีย ผ่านภาคกลางของประเทศจีน เข้าอาเซียนที่ประเทศเวียดนาม บริเวณภาคเหนือ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม แล้วสัญญาณพิกัด ไม่สามารถส่งมาที่ฮับรับสัญญาณภาคพื้นดิน (อุปกรณ์ดาวเทียมของสีดา เป็นระบบ GSM ต้องอยู่ในพื้นที่มีสัญญาณโทรศัพท์ จึงจะส่งพิกัดดาวเทียมกลับมาที่ฮับภาคพื้นดินได้)
ส่วนการเดินทางไกลครั้งแรก หลังติดตั้งดาวเทียม สีดา พบว่าบินไกลถึง 6,064 กม. ในระหว่างเดือนเมษายน ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 เป็นวันที่สีดาบินไปถึงพื้นที่ในฤดูผสมพันธุ์
ดังนั้น เมื่อการเดินทางรอบสอง ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม ถึง 8 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นการอพยพลงใต้ กลับมาประเทศไทย ถิ่นอาศัยในฤดูหนาว หรือนอกฤดูผสมพันธุ์ รวมระยะทาง สีดา บินไกลมากกว่า 12,000 กม.
ทั้งนี้ #หน่วยวิจัยนกนักล่าและเวชศาสตร์อนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการติดตั้งอุปกรณ์ดาวเทียม GPS-GSM tracker หนัก 14 กรัม บนแผ่นหลัง (backpack mounting) ของสีดา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 ที่ อ.ปากพลี จ. นครนายก เพื่อศึกษาเส้นทางอพยพ และพฤติกรรมของสีดา.
นายสัตวแพทย์ ดร.ไชยยันต์ เกสรดอกบัว กลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรี คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า “เหยี่ยวดำใหญ่เป็นนกนักล่า เป็นสัตว์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร อาหารของมันจะผันแปรไปตามที่อยู่อาศัย อย่างอีแร้งจะเห็นว่ามันไม่ล่าสัตว์อื่น แต่จะกินซากสัตว์เท่านั้น ถ้าเป็นเหยี่ยวหรือนกอินทรีจะล่าหนูนา นกขนาดเล็ก งู หรือแมลง เพราะฉะนั้นฟังก์ชั่นของนกนักล่าในธรรมชาติจึงสำคัญมากในเรื่องการควบคุมประชากรสัตว์เหล่านี้ ซึ่งส่วนมากจะเป็นสัตว์ที่ทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน”
“อยากให้ข้อสังเกตนกนักล่าแต่ละชนิดจะมีสัญชาตญาณที่เป็นนาฬิกาชีวิตของตัวเอง เมื่อถึงฤดูแล้งในช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไป ถ้านกสุขภาพดีก็จะบินกลับไปยังบ้านเกิด เพราะมีสัญชาตญาณผูกพันกับถิ่นอาศัย คือเกิดที่ไหนก็จะกลับไปหาคู่และทำรังวางไข่ที่เดิม ภูมิประเทศในถิ่นอาศัยจึงสำคัญมาก หากป่าไม้ถูกทำลาย พื้นที่เปลี่ยนไปก็จะลดโอกาสในการขยายพันธุ์ของนกในกลุ่มนี้”
ข้อมูลอ้างอิง
Thai Raptor Group กลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรีในประเทศไทย
หน่วยวิจัยนกนักล่าและเวชศาสตร์อนุรักษ์
https://adaymagazine.com/raptor-rehabilitation-unit
เมื่อ 25 กันยายน 2564 สีดา เดินทางอพยพ ลงใต้ได้ไกลกว่า 3,500+ กม. ราวครึ่งทางของการอพยพ ตอนนั้น สีดา เริ่มเดินทางจากหุบเขา ทางเหนือของเมืองปักกิ่ง หลังจากที่สีดาเริ่มเดินทางครั้งใหม่ ในฤดูอพยพต้นหนาว ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม จะเห็นว่าเส้นทางบินแทบจะซ้ำรอยเดิม (เส้นสีแดง ลูกศรชี้ไปทางทิศเหนือ เป็นเส้นทางอพยพขึ้นเหนือ ส่วนลูกศรชี้ลงทิศใต้ คือเส้นทางการบินกลับไทยของสีดา ในเดือนกันยายน 2564)