กรุงเทพเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันเปรียบเป็น "กระทะคอนกรีต" ก้นลึกต่ำกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา และยังต่ำกว่าระดับทะเลในหลายพื้นที่
หากไม่ทำอะไร ฝนตกมากก็ท่วม น้ำเหนือมาก็ท่วม น้ำทะเลหนุนสูง เจ้าพระยาก็ทะลัก ท่วม ท่วม และท่วม
ที่น่ากลัวที่สุด คือ มีการคำนวนว่าในอีกสิบปี ทั้งกรุงเทพอาจอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล จากสภาวะโลกร้อน น้ำทะเลสูงขึ้น ฝนก็ตกหนักขึ้น
ท่านไม่จำเป็นต้องมีความรู้ ระดับนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ ท่านคงรู้แจ้งจากภาพได้ว่า จริงยิ่งกว่าจริง เพราะแค่วันนี้ น้ำเจ้าพระยายังทะลัก ท่วมชาวบ้านในหลายพื้นที่ ตำตา!
ยิ่งช่วงนี้ น้ำทะเลหนุนสูงสุดในเดือน ตค.-ธค. กทม.จะเกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำหนุนซ้ำซากทุกปี ทั้งการก่อสร้างแนวเขื่อนกั้นน้ำเจ้าพระยายังไม่ครบ เป็นฟันหลอ มีรูรั่วหลายจุด เช่น ท่าเรือ และพื้นที่รุกล้ำ ทั้งกำแพงเขื่อนทรุดพัง รอการแก้ไข
ในฐานะนายกสภาวิศวกร ขอเสนอแนวทางสู้ ดังนี้
1. ปัญหาน้ำทะเลหนุน เรารู้ล่วงหน้าเพราะมีการพยากรณ์น้ำขึ้น-น้ำลงทุกวัน เวลาไหนก็รู้ และเมื่อพิจารณาร่วมประกอบกับข้อมูลของระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เราสามารถที่จะตรวจสอบ และวิเคราะห์ความเสี่ยงได้
เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ปัจจุบัน เอามาช่วยได้ ง่ายมาก!
พอรู้ล่วงหน้า ก็จัดทำแนวป้องกันชั่วคราว ประทังไว้ก่อน บริเวณฟันหลอ อุดรูรั่วกำแพงเขื่อนกั้นเจ้าพระยา
ทั้งเตรียมพร้อม เพิ่มอุปกรณ์เสริม เช่น ปั้มสูบน้ำอัตโนมัติ เอามาสู้ น้ำทะลักมาตรงไหน สู้ตรงนั้น ไม่ใช่ปล่อยน้ำทะลักมา แบบที่เห็น หมดรูป จบกัน...
2. ต้องเร่งก่อสร้างเสริมแนวเขื่อนให้สมบูรณ์ ตลอดแนว แต่พึงระวังผลกระทบต่อชุมชน มั่นใจ สถานการณ์วันนี้ ชาวบ้านเข้าใจมากขึ้น เพราะหากมัวแต่เถียงกัน ไม่กล้าทำอะไร น้ำก็ท่วมทะลัก เจ็บหนักกันทุกคน ทั้งเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน จริงไหม?
และต้องสร้างประตูระบายน้ำอัตโนมัติ เหมือนสิงคโปร์ โตเกียว ลอนดอน ที่สามารถเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำได้ด้วยคอมพิวเตอร์ ความแม่นยำสูง ที่เชื่อมโยงกับระบบพยากรณ์สภาวะอากาศ และระดับน้ำขึ้น น้ำลง อย่าพึ่งพากำลังคนเลยครับ ความผิดพลาดเกิดขึ้นง่ายกว่า
ทั้งต้องเก็บข้อมูลสถิติระดับน้ำสูงสุด ที่เกิดจากน้ำหนุน ควบคู่กับการบริหารจัดการมวลน้ำเหนือที่ไหลผ่าน กทม. เพื่อประกอบการวางแผน และป้องกันล่วงหน้า อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
3. การออกแบบกำแพงเขื่อนแบบเดิม โอกาสพังเร็วมาก เพราะสภาวะการขึ้นลงของน้ำในปัจจุบัน รุนแรงกว่าในอดีต ดังนั้น อาจต้องออกแบบเป็นกำแพงสองชั้น มั่นคงกว่า!
ในต่างประเทศ เขาออกแบบเป็นกำแพงสองชั้น ทั้งนั้น เพราะนอกจากไม่กินพื้นที่ชาวบ้าน ยังเพิ่มพื้นที่ให้ทางเดินได้ริมน้ำให้ประชาชน และสะดวกในการตรวจความเสียหาย ต่างจากแบบเดิม พังก็ไม่รู้ อยากจะซ่อมก็เข้าไปซ่อมยาก
และหลายพื้นที่ กำแพงเขื่อนทรุด จนต่ำกว่าระดับน้ำ พอน้ำหนุน ก็ล้นตลิ่ง เข้ามาท่วมชาวบ้าน ดังนั้น คงต้องยกขอบกำแพงเขื่อนให้สูงเผื่อขึ้นอีก
และ 4. การแก้ปัญหาระยะยาว อาจจำเป็นต้องสร้างเขื่อนปากแม่น้ำ เปิด-ปิดได้ เหมือนเมืองอื่น เช่น เมืองเวนิส อิตาลี และ เมืองรอตเตอร์ดาร์ม เนเธอแลนด์ เขาทำมานาน เราก็ทำไดั
จึงต้องรีบศึกษาผลกระทบ และงบประมาณ แต่หากเปรียบเทียบกับความเสี่ยง และความเสียหายที่รุนแรงมาก เมื่อกรุงเทพจมน้ำ อาจเป็นทางเลือกที่เลี่ยงไม่ได้...
ลองคิดดูครับ จะทำก็รีบทำ #จะทำก็ทำได้ ช้าไป กรุงเทพจมน้ำ วันนั้น ขอโทษคงไม่พอครับ!
บทความโดย ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ที่มา เพจเฟซบุ๊ค สุชัชวีร์
สุวรรณสวัสดิ์ Suchatvee Suwansawat