xs
xsm
sm
md
lg

“คุณหญิงกัลยา” ชูนโยบายการศึกษาพิเศษ พร้อมตั้งศูนย์วิจัย ยกระดับการศึกษาเด็กพิเศษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชูนโยบายการศึกษาพิเศษ ปี 2565 เดินหน้าขับเคลื่อน 5 มิติ เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้วิชาการ-วิชาชีพ-วิชาชีวิต 24 ชั่วโมง พร้อมตั้งศูนย์วิจัยยกระดับการศึกษาเด็กพิเศษ เปิดโลกการเรียนรู้ใหม่อย่างยั่งยืน

ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ในปี 2565 กระทรวงศึกษาธิการในฐานะที่ตนเองเป็นผู้กำกับนโยบายจะขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาพิเศษต่อเนื่อง โดยจะเดินหน้าใน 5 ด้านสำคัญ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานการเรียนรู้ สู่การใช้ชีวิตจริง ให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบไปด้วย 1.ด้านวิชาการ ให้มีโอกาส ในรูปแบบอยู่ประจำ โดยจัดการเรียนรู้ตลอด 24 ชม. เน้นด้านวิชาการ ควบคู่กับพื้นฐานการใช้ชีวิตด้วย 2.ด้านวิชาชีพ เด็กด้อยโอกาสและเด็กพิการ เมื่อมีโอกาสได้เรียนรู้แล้ว ต้องติดอาวุธทางวิชาชีพให้ด้วย ซึ่งระหว่างเรียน มีให้เลือกทั้งงานช่าง งานในภาคอุตสาหกรรม งานภาคการเกษตร ตามความถนัดและกำลังของแต่ละคนที่จะทำได้ เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ พึ่งตนเองได้ หลังจากจบการศึกษาไปแล้ว

3.ด้านวิถีชีวิต ต่อเนื่องจากการให้ความรู้ด้านวิชาการและติดอาวุธด้านวิชาชีพแล้ว ในกลุ่มเด็กด้อยโอกาสที่เรียนในรูปแบบประจำ จะได้ในเรื่องการเรียนรู้ด้านการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นติดตัวไปด้วย รู้จักการเอื้อเฟื้อแบ่งปัน การให้อภัย ปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนและผู้ใหญ่ เพื่อให้ง่ายในการปรับตัว ก่อนออกไปสู่สังคมภายนอกหลังจบการศึกษา 4.ด้าน Coding โดยรูปแบบการเรียนรู้ตามหลักนโยบายการศึกษาพิเศษรูปแบบใหม่ จะเน้นการเรียนการสอนตามหลักสูตรผสมผสานกับกระบวนคิดแบบ Coding ให้เข้าไปในทุกรายวิชา เป็นการปลูกฝังให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และ5.ด้าน Coaching เพราะหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาพิเศษ คือ ครูผู้สอน เพราะต้องทุ่มเทเอาใจใส่เป็นพิเศษ คอยช่วยสนับสนุน ให้คำแนะนำ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กพิการ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน รูปแบบการสอนก็ต้องเปลี่ยนไปต้องเปลี่ยนบ้านให้เป็นโรงเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู ทั้งครูและผู้ปกครองต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด

“กระทรวงศึกษาจะให้การศึกษากับเด็กด้อยโอกาส ให้มีโอกาส เด็กที่ด้อยโอกาสกระทรวงศึกษาจึงให้อยู่ประจำ เป็นการให้ความรู้ตลอด 24 ชั่วโมง นั่นหมายถึงว่าจะต้องให้ความรู้ ทั้งในด้านวิชาการ ให้ความรู้ในด้านการใช้ชีวิต และสุดท้ายให้ความรู้เกี่ยวกับวิชาชีพ เนื่องจากเด็กที่ด้อยโอกาสเหล่านี้เมื่อได้เรียนรู้แล้ว ก็ต้องสามารถนำความรู้นั้นไปประกอบวิชาชีพได้เมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปแล้ว การศึกษาไทยจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

นอกจากนี้ในปี 2565 ทางกระทรวงศึกษาธิการจะเน้นให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพกับเด็กพิการและด้อยโอกาส โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาขึ้น เพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้รับการศึกษาที่ยกระดับขึ้น ทำให้มีความสามารถที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในชีวิตได้มากขึ้น รวมไปถึงในเรื่องความปลอดภัยของเด็กในการที่มาโรงเรียนซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก