อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล โพสต์ภาพ “โลมาหลังโหนก” กำลังว่ายโชว์ตัวบริเวณหาดการสิงห์บ้านบ่อเจ็ดลูก จ.สตูล เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ถ่ายภาพโดย นายอภิเทพ ชัวชมเกตุ
ภาพที่ปรากฎเหมือนว่าพวกมันออกมาต้อนรับการกลับมาเปิดการท่องเที่ยวและให้พักแรมของอุทยานฯ หมู่เกาะเภตรา อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป
ปัจจุบันโลมาหลังโหนก หรือ โลมาขาวเทา หรือ โลมาเผือก หรือ โลมาสีชมพู (Chinese white dolphin, Pacific humpback dolphin, Indo-Pacific humpbacked dolphin) เป็นโลมาชนิดหนึ่ง ในวงศ์โลมามหาสมุทร อยู่ในสถานะอนุรักษ์ ประเภทมีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ (NT) โดยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ในประเทศไทย ทุกคนอาจพบตัวได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน เนื่องจากยังพบกระจายพันธุ์ตามแถบชายฝั่ง หรือแหล่งน้ำตื้นที่มีความลึกไม่เกิน 20 เมตร โดยมากชายฝั่งทะเลที่โลมาหลังโหนกอาศัยอยู่นั้นมักมีป่าชายเลนอยู่ด้วยเสมอ และชอบอยู่ในบริเวณน้ำตื้น
อุปนิสัย อาศัยประจำที่ หรือมีการย้ายที่อพยพน้อยมาก รวมถึงอาศัยอยู่ไม่ห่างจากชายฝั่งเกินระยะ 1 กิโลเมตร จึงพบเห็นตัวได้ง่าย จะอยู่กันเป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 10 ตัว ว่ายน้ำช้า ประมาณ 4.8 กิโลเมตร/ชั่วโมง และจะดำน้ำประมาณ 40-60 วินาที ก่อนจะโผล่ขึ้นมาหายใจ
โลมาหลังโหนก จะออกหาอาหารเป็นฝูง กินปลาทั้งตามชายฝั่งและในแนวปะการังเป็นอาหารหลัก ซึ่งรวมทั้งหมึก, กุ้ง, ปู โดยพวกมันจะใช้คลื่นเสียงในการสื่อสารถึงกัน และ เป็นโลมาอีกชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาฝึกกันตามสวนน้ำ
ข้อมูลอ้างอิง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา-Mu ko phetra national park