“ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน” งานวิจัยจากจุฬาฯ สะท้อนแรงงานยุคใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 แต่กลับไร้หลักประกันและการคุ้มครองสวัสดิภาพ วอนรัฐเร่งปฏิรูปกฎหมายแรงงาน
“นี่ไม่ใช่เพียงเรื่องอาชีพไรเดอร์ แต่เป็นโมเดลการจ้างงานในอนาคต” บางส่วนจากวงเสวนาวิชาการ “ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน” จัดโดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นวิกฤตแรงงานกลุ่มใหม่ หรือ Gig worker ที่แม้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่กลับขาดการคุ้มครองสวัสดิภาพใดๆ และถูกเอารัดเอาเปรียบจากฝ่ายนายจ้าง
อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิชาการศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำวิจัย “ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน ว่าด้วยสภาพการทำงานและหลักประกันทางสังคมของแรงงานส่งอาหารบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19” เผยปัญหาความเหลื่อมล้ำและไร้หลักประกันการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการใส่ใจจากทุกฝ่ายรวมถึงผู้บริโภค
๐ กฎหมายล้าหลัง ตามไม่ทันยอดไรเดอร์
รูปแบบความสัมพันธ์ด้านแรงงานระหว่างฝ่ายนายจ้างหรือแพลตฟอร์มออนไลน์กับลูกจ้างไรเดอร์แตกต่างไปจากรูปแบบการจ้างงานเหมาจ่ายที่คุ้นเคย และเปลี่ยนจากสถานประกอบการเป็นแพลตฟอร์มบนโทรศัพท์มือถือ (smartphone) ซึ่งหากมีปฏิสัมพันธ์กันบ้าง ก็เพียงการรับส่งคำสั่งทางออนไลน์เท่านั้น ค่าจ้างหรือรายได้จึงมาจากการทำงานรับจ้างส่งของตามคำสั่ง นั่นหมายถึง ยิ่งไรเดอร์ได้รับคำสั่งมากเพียงใด ก็หมายถึงจำนวนรายได้ที่เพิ่มขึ้นของไรเดอร์คนนั้นในแต่ละวัน
ด้วยเหตุนี้เอง รายได้ของไรเดอร์แต่ละคนจึงไม่แน่นอน ขึ้นลงตามสถานการณ์ในแต่ละวันที่ไม่อาจกำหนดได้ล่วงหน้า ซ้ำร้ายอำนาจต่อรองของไรเดอร์กลับต่ำเนื่องจากต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มเป็นประตูหลักของแหล่งรายได้ และถึงแม้คู่แข่งในสนามการค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์จะมีจำนวนไม่มาก แรงงานไรเดอร์เหล่านี้ก็ยังไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า เนื่องจากแพลตฟอร์มแต่ละแห่งล้วนกำหนดเงื่อนไขการให้ค่าจ้างแก่ไรเดอร์ได้เอง ไม่มีกลไกรัฐกำหนดมาตรฐานค่ารับจ้างแต่อย่างใด มิพักต้องพูดถึงสวัสดิการแรงงานหรือการคุ้มครองสิทธิประโยชน์
อรรคณัฐ นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษาเผยว่าลักษณะการจ้างงานที่ยังไม่มีเกณฑ์การคุ้มครองแรงงานกลุ่มนี้ที่ได้มาตรฐานเหมือนแรงงานกลุ่มอื่นๆ ได้กลายเป็นโอกาสทองให้นายจ้างแพลตฟอร์มเอาประโยชน์อย่างต่อเนื่องจากไรเดอร์ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็ยังเพิกเฉยต่อปัญหา
“1 ใน 3 ของไรเดอร์เคยประสบอุบัติเหตุระหว่างทำงาน ทำให้ต้องลาหยุดเพื่อพักรักษาตัว แต่การหยุดของแรงงานกลุ่มนี้กลับส่งผลกระทบต่อรายได้และการประเมินผลงานประจำเดือนเพื่อประกอบการต่อสัญญาจ้าง ส่วนประกันอุบัติเหตุ ฝ่ายนายจ้างก็จำกัดให้เฉพาะผู้ทำผลงานดีเท่านั้น เพราะฉะนั้น รูปแบบการจ้างงานลักษณะนี้จึงสร้างปัญหาในตัวมันเองเพราะไม่อาจให้หลักประกันสวัสดิภาพแรงงานเหล่านี้ได้เลย”
อรรคณัฐ กล่าวต่อไปว่าในอนาคต รูปแบบการจ้างงานแบบนี้จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมใช้บริการ แต่กฎหมายคุ้มครองลูกจ้างที่มีอยู่นั้นยังคลุมเครือ ไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าสถานะแรงงานกลุ่มนี้เป็นแบบใด นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ทั้งเรื่องสวัสดิการและหลักประกันสังคม
๐ ติงรัฐเร่งปฏิรูปกฎหมายแรงงาน
ไรเดอร์จัดเป็นแรงงานอิสระหรือ “ฟรีแลนซ์” (freelancer) ประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ผูกสถานะตัวเองกับองค์กรบริษัทใด โดยได้ค่าตอบแทนเป็นเงินรับจ้างตามเงื่อนไขในสัญญาจ้าง ไม่ใช่ค่าตอบแทนเหมาจ่ายรายเดือนเหมือนข้าราชการหรือพนักงานบริษัททั่วไป ลักษณะนี้เองที่ทำให้แรงงานกลุ่มใหม่นี้อยู่นอกกฎเกณฑ์ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
นักวิจัยจากสถาบันเอเชียศึกษาระบุว่า หากกลไกรัฐไม่ปรับปรุงเกณฑ์การคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานให้ทันสมัยตามลักษณะเศรษฐกิจและความนิยมการจ้างงานในปัจจุบันที่เรียกว่า “Gig Economy” (การจ้างงานในระยะสั้น เช่น รูปแบบงานอิสระ ฟรีแลนซ์) ปมปัญหานี้ก็อาจขยายผลกระทบไปไกลกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
“ฟรีแลนซ์ไรเดอร์ได้ค่าจ้างต่างจากฟรีแลนซ์จำพวกดีไซเนอร์อย่างมากเพราะใช้ทักษะความสามารถแตกต่างกันชัดเจน ฉะนั้น เวลาเกิดอุบัติเหตุกับไรเดอร์ พวกเขาจะเข้าไม่ถึงประกันสังคม ต้องดูแลตัวเอง ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง หากอ้างกฎหมายประกันสังคมมาตรา 33 หรือมาตรา 39 ที่ระบุคุ้มครองแรงงานแต่ในสถานประกอบการเท่านั้น ยิ่งหมดหวัง ทั้งๆ ที่ไรเดอร์เป็นแรงงานอิสระแบบหนึ่งที่แม้จะมีต้นสังกัดแต่กลับไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของแรงงาน ขณะที่มาตรา 40 สวัสดิการไม่จูงใจให้สมัคร” อรรคณัฐ กล่าว
ด้วยเหตุนี้ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกับแรงงานไรเดอร์ ไม่ว่าจะตกงานหรือร่างกายไม่อาจทำงานได้ปกติ ย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ในระยะยาวจึงจำเป็นต้องยกเครื่องกฎระเบียบการคุ้มครองแรงงานโดยไม่ลืมคำนึงถึงแรงงานกลุ่มใหม่นี้ที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
๐ ความหวังของแรงงานไรเดอร์
ในต่างประเทศ วัฒนธรรมการรวมกลุ่มของแรงงานยังคงส่งผลโดยแต่ละกลุ่มจะช่วยเหลือกันและกันโดยอำนาจต่อรองจากฝ่ายสหภาพแรงงานยังทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แม้แต่หน่วยงานรัฐก็ยังให้ความคุ้มครองโดยทำหน้าที่ฟ้องร้องบริษัทเอกชนหากพบมูลว่ามีการจ้างงานโดยไม่เป็นธรรม เพราะฉะนั้น โอกาสที่บริษัทเอกชนคิดจะเอาเปรียบแรงงานกลุ่มนี้จึงน้อยลง
“สถานการณ์ไรเดอร์ไทยตอนนี้ อาจพูดได้ว่ายังไม่มีเจ้าภาพหลักในการลุกขึ้นมาปกป้องหรือแก้ไขกฎหมาย ฉะนั้น เฉพาะหน้า กระทรวงแรงงานน่าจะต้องมาขยับก่อน เอาให้ชัดว่าแรงงานกลุ่มนี้คืออะไร เป็นลูกจ้างประเภทไหน จะออกแบบหลักประกันทางสังคมให้ครอบคลุมกลุ่มนี้อย่างไรให้สอดคล้องกับหลักคุ้มครองแรงงาน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งหลักประกันสุขภาพที่เหมาะกับแรงงานกลุ่มนี้พึงเป็นเช่นไรที่จะไม่เป็นภาระแก่ประเทศในระยะยาว”
อรรคณัฐ สรุปผลการวิจัยโดยเน้นเสนอให้รัฐเริ่มต้นปฏิรูปกฎหมายแรงงาน อีกทั้งวอนทุกฝ่ายให้บูรณาการความร่วมมือเพื่อคลี่คลายปัญหา โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ใช้บริการแรงงานเหล่านี้ ต้องเริ่มตระหนักและเข้าใจสถานการณ์การจ้างงานและเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดการดูแลสวัสดิภาพของเหล่าไรเดอร์