xs
xsm
sm
md
lg

กรอ. โชว์ผลงานเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ปี 2564 ทะลุเป้า!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) หรือเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม โดยการพัฒนาให้เป็นเมือง หรือพื้นที่ซึ่งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีความเชื่อมโยงของนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือชุมชนอุตสาหกรรมกับกลุ่มโรงงาน องค์กร หน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนโดยรอบ เพื่อให้เจริญเติบโตไปด้วยกันนั้น

เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จัดงานสัมมนาสรุปผลการดำเนินโครงการ และสนับสนุนกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาและยกระดับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่เมืองสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ปรากฎว่าผลงานในปีนี้ มีพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศยกระดับได้ตามเป้าหมายกว่า 18 พื้นที่ ใน 15 จังหวัด เขตประกอบการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 1 แห่ง สวนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 3 แห่ง รวมทั้งโรงงานในพื้นที่เป้าหมายผ่านเกณฑ์การพัฒนาเข้าสู่มาตรฐานกว่า 100 โรงงาน




ในคลิปนี้ แสดงให้เห็นแนวคิดของการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งเป็นการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมและชุมชนโดยสร้างความสมดุลระหว่างปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชนในท้องถิ่น


นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี และ นายวันชัย พนมชัย
นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การจัดงานสรุปผลการดำเนินงานพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ผ่านมา มีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ ให้แก่พื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเมืองนิเวศ (Eco Industrial Town : EIT) จำนวน 18 พื้นที่ใน 15 จังหวัด เขตประกอบการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Zone : EIZ) จำนวน 1 แห่ง และสวนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Park : EIP) จำนวน 3 แห่ง เป็นการยืนยันความสำเร็จของการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในยุทธศาสตร์ชาติด้านที่ 5 การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมติคณะรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการขับเคลื่อนพื้นที่เป้าหมายสู่การเป็น “เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม” ครบทั้ง 5 มิติ คือ มิติกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ ในพื้นที่รวมทั้งประเทศ จำนวน 39 จังหวัด 53 พื้นที่ เพื่อสร้างการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนและโรงงานอย่างยั่งยืน ตามแผนงานการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระยะ 20 ปี ของกระทรวงอุตสาหกรรม

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า “กรอ. ยังคงเดินหน้าพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้ถือว่าประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ มีเมืองผ่านเกณฑ์การพัฒนาระดับที่ 4 (การพึ่งพาอาศัย) จำนวน 4 พื้นที่ ระดับที่ 3 (ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร) จำนวน 5 พื้นที่ และอีก 9 พื้นที่ ผ่านเกณฑ์การพัฒนาระดับที่ 2 (การส่งเสริม) อีกทั้งยังมีเขตประกอบการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และสวนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวม 4 แห่ง ที่ผ่านเกณฑ์การพัฒนาในระดับที่ 5 (เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม) ซึ่งเป็นระดับสูงสุด

โดยผลสรุปของการดำเนินงานพัฒนาเมืองในปีนี้ มิติเศรษฐกิจ มีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมรวม คิดเป็นมูลค่ากว่า 0.8 ล้านล้านบาท มิติสิ่งแวดล้อม สามารถลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวน 3.2 ล้านตัน และมิติสังคม สามารถยกระดับรายได้และการเป็นอยู่ของกลุ่มชาวบ้าน วิสาหกิจชุมชนรวมกว่า 300 กลุ่ม

สำหรับปีหน้า กรอ. ยังคงมุ่งมั่นที่จะบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ร่วมกับจังหวัดเป้าหมาย เพื่อยกระดับพื้นที่สู่ระดับที่ 5 เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม 18 พื้นที่ ภายในปี 2570 และครบทั้งหมด 53 พื้นที่ ในปี 2580 อันเป็นเป้าหมายของ “เมืองอยู่ดี คนมีสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน” ที่ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ ให้ประชาชนและพนักงานโรงงานในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตรวมไปถึงสุขภาพที่ดี สอดคล้องไปกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเมืองและประเทศ”

ด้านนายวีระกิตติ์ รันทกิจธนวัชร์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่จะถึงนี้ กรอ. มีภารกิจสำคัญที่จะต้องยกระดับ 18 พื้นที่ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับที่ 3 อีกทั้งยังมีแผนงานรองรับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนพื้นที่ในการจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระยะ 5 ปี คือ 2566 - 2570 เพื่อเป็นกรอบและทิศทางสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และในส่วนของระดับโรงงาน กรอ. ยังส่งเสริมโรงงานให้ดำเนินงานเชื่อมโยง สอดคล้องนโยบายที่สำคัญของประเทศอย่างเช่น BCG Model ผ่านโครงการ รางวัลต่างๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่มีคุณค่าต่อสังคม (Eco Factory plus Social Value : Eco Factory+sv) อุตสาหกรรมสีเขียว (GI : Green Industry) โรงงานอุตสาหกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน (CSR-DIW) เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กรและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป

จะเห็นว่า เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดี และการร่วมมือกันขับเคลื่อนอย่างจริงจังของคนในพื้นที่ โดยสามารถดำเนินการได้ทุกระดับตั้งแต่ ระดับปัจเจกชน เช่น ครอบครัวและโรงงาน (eco family / eco factory) เป็นต้น ระดับกลุ่มอุตสาหกรรมหรือชุมชน เช่น นิคมอุตสาหกรรมหรือหมู่บ้านหรือตำบล (eco industrial zone / estate) ระดับเมือง (eco town / eco city) หรือเครือข่ายของเมืองหรือจังหวัด


กำลังโหลดความคิดเห็น