มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับชุมชนหลักหก วางแนวทางชุมชนน่าอยู่เน้นผุดโครงการส่งเสริมความดี หลักหกสปิริต (Lakhok Spirit) ที่เน้นรูปแบบการส่งเสริมการทำความดีต่อตนเอง สังคม อันจะนำไปสู่การคิดดี ทำดี มีความซื่อสัตย์สุจริต เกิดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือพึ่งพากันในชุมชน
ผศ.ดร.นเรฏฐ์ พันธราธร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต และประธานศูนย์ประสานงานและเฝ้าระวัง COVID-19 หลักหกกล่าวว่า เมื่อศูนย์บริการวัคซีนเพื่อประชาชน มหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับการกล่าวถึงจากพี่น้องในชุมชนหลักหก และผู้มาใช้บริการว่าเป็นศูนย์วัคซีนฯ ถึงความเชี่ยวชาญ ของบุคลากรทางการศึกษาที่พร้อมรับมือกับสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ได้ และด้วยความตั้งใจ และความมุ่งมั่น ของมหาวิทยาลัยรังสิต ต่อบทบาทการให้ความช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่นั่นคือชุมชนหลักหก ตลอดระยะเวลา ๑๖๘ วัน
"เราได้รับน้ำใจจากชุมชน และประชาชน ที่อยากสนับสนุนโครงการ กิจกรรมของมหาวิทยาลัยรังสิต และจิตอาสาทุกคนและทุกวัน แต่กำลังไม่ไหวจริง ๆ จึงขอเปลี่ยนจากการมอบสิ่งของ อาหาร และบริการ ที่ศูนย์บริการวัคซีนฯ มาตอบแทนด้วยการให้สิทธิ์พิเศษ ส่วนลดต่าง ๆ หากทีมงานจิตอาสามาทุกท่านมาใช้บริการที่ร้านค้าของของตนเอง จากน้ำใจของชุมชนที่ตั้งใจตอบแทนเรา จึงทำให้มหาวิทยาลัยรังสิตผุดไอเดียอยากสร้างแนวทางชุมชนน่าอยู่ที่เน้นรูปแบบการส่งเสริมการทำความดีต่อตนเอง เน้นการดูแลสุขภาวะของตนเองเพื่อให้เกิดความสมดุล ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม อันจะนำไปสู่การคิดดี ทำดี มีความซื่อสัตย์สุจริต"
"การทำความดีนั้นพึงหมายถึงการทำดีต่อเพื่อนบ้านหรือผู้อื่นให้ เกิดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือพึ่งพากัน ภายใต้แนวความคิดการส่งเสริมการทำความดีนั่น เราจึงเริ่มต้นจากความรู้ความสามารถและความเชี่ยมชาญในฐานะสถาบันการศึกษา นำมาสร้างแพลตฟอร์มเมืองของคนทำดีของชุมชน เพื่อสร้างบรรยากาศและความสัมพันธ์เสมือนเป็นชุมชนหลักหกบนแพตฟอร์มรูปแบบออนไลน์ เชื่อมโยงทุกคนในชุมชนเข้าหากันผ่านทางเทคโนโลยีหรือดิจิทัลแพลตฟอร์ม ด้วยการสร้างฟีเจอร์ที่สอดคล้องกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวชุมชนหลักหกและผู้มาเยือน"
สำหรับแพลตฟอร์มหลักหกที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับชุมชน โดยเน้นเป้าหมายที่การสนับสนุนส่งเสริมช่วยเหลือแบ่งปันกันและกัน เน้นการเป็นตัวกลางของการสื่อสาร 3 แพลตฟอร์มอันได้แก่ 1.เว็บไซต์ www.rsu.ac.th/lakhok ทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสาร การประชาสัมพันธ์ แบ่งปันข้อมูล เนื้อหาสาระ ข่าวสาร ประกาศรูปแบบเผยแพร่สาธารณะ 2. เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://www.facebook.com/LakhokSpirit เป็นอีกช่องทางที่เน้นสื่อสารกับคนในชุมชนได้สะดวกและใกล้ชิดมากขึ้น และสามารถจัดกลุ่มเป้าหมายในการสื่อสารได้ดีขึ้น ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มสมาชิกของของคนในชุมชนชวนกันทำความดี ได้แก่ กลุ่มจิตอาสาและอาสาสมัคร กลุ่มสร้างคนสร้างอาชีพ กลุ่มธุรกิจร้านค้า และอื่นๆ ที่มีความสนใจตรงกัน ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน และ 3. LINE Official Account (Line OA) ของหลักหกสปิริต (Lakhok Spirit) ที่มีเป้าหมายให้คนในชุมชนลงทะเบียนสำหรับการบันทึกความดี สามารถสะสมคอยด์ (Spirit Coin) และนำไปใช้กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการได้
การสร้างแพลตฟอร์มทั้ง 3 แพลตฟอร์มใหม่นี้จะประตูเพื่อสื่อสารเรื่องราวความเป็น 'หลักหก' ในฐานะพื้นที่ที่มีเพื่อนบ้านติดกันชื่อกรุงเทพมหานคร พื้นที่ที่เสมือนประตูเมืองยินดีต้อนรับเข้าสู่ปทุมธานี พื้นที่ที่เป็นเมืองแห่งการศึกษา พื้นที่ที่มีเรื่องเล่าทางวัฒนธรรม พื้นที่มีความแตกต่าง หลากหลาย โดยมีความตั้งใจเชิญชวนคนในชุมชนหลักหกเข้าร่วมโครงการและใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ในชีวิตประจำวัน
ที่สำคัญคือ แพลตฟอร์มหลักหกสปิริตนี้ เป็นหนึ่งในพื้นที่การเชื่อมต่อระหว่างกันมหาวิทยาลัยรังสิต และชุมชนเพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจคนทำความดีในชุมชน ปลูกฝังให้เกิดพลังจิตอาสา นำมาซึ่งสังคมแห่งการให้และการแบ่งปันความดีและความสุข และแน่นอนความดีเหล่านั้นไม่ศูนย์เปล่า การทำดีเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้งสามารรถสะสมความดีนำมาแปลเปลี่ยนเป็นน้ำใจตอบแทนกลับไป ผ่านกิจกรรมบนแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นนี้ เรียกว่าเป็นการสะสมคอยน์ความดี หรือ Spirit Coin โดยคอยน์ที่สะมสมได้นั้นนำไปแลกสิทธิ์จากร้านค้า บริการภายในชุมชน ตามจตนารมย์ของพลเมืองดีอยากตอบแทนน้ำใจนั่นเอง เราจะร่วมสร้างกำลังใจให้กับทุกบริบทของสังคมในชุมชนของเราเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างต้นทุนสังคมอย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.วุฒิพงษ์ ชินศรี ผู้อำนวยการศูนย์บริการทางวิชาการและนวัตกรรม ผู้พัฒนาระบบ กล่าว่า แพลตฟอร์มระบบ LINE Official Account (LINE OA) มาใช้เป็นต้นแบบหลักหกสปิริต (Lakhok Spirit) เนื่องจากจากสถิติแล้วแสดงให้เห็นว่ามีกลุ่มคนตั้งแต่เด็ก คนวัยทำงาน และผู้สูงอายุสามารถใช้ได้ และใช้ง่าย ข้อดีคือโทรศัพท์เกือบทุกเครื่องเป็นระบบปฏิบัติการณ์แอนดรอยด์ หรือ ios และส่วนใหญ่สามารถติดตั้งแอพพลิเคชั่นไลน์ได้ จึงโฟกัสการใช้งานที่สองระบบซึ่งผู้ใช้งานไม่ต้องโหลดแอพอื่นเพิ่มเติม
ที่สำคัญ Line OA นี้เราสามารถบรอดแคสข้อความไปหาสมาชิกที่แอดไลน์เราเข้ามาได้ด้วย อีกข้อดีหนึ่งคือตัวระบบสร้างมาให้มีการยืนยันตัวตนเพื่อเก็บข้อมูลสมาชิกว่าสะสม Spirit Coin ได้เท่าไร ดังนั้นตัวแอพพลิเคชั่นไลน์มีฟีเจอร์การใช้โดยต้องล็อคอินเข้าระบบ เราจึงนำมาประยุกต์ให้แอคเคาท์ไลน์เป็นตัวยืนยันไลน์แอดหลักหกสปิริตได้เลยโดยสมาชอกที่แอดไลน์แทบไม่ต้องกรอกอะไรให้ยุ่งยาก ฉะนั้น ตัว Line OA ที่เลือกมานั้นเป็นรูปแบบที่เหมาะกับการที่เอามาใช้งานลักษณะแบบนี้ในยุคปัจจุบัน”
หลักหกสปิริต (Lakhok Spirit) เบื้องต้นเป้าหมายคือมีกลุ่มสมาชิก 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรก คือ จิตอาสา ผู้ที่มาทำประโยชน์ให้ส่วนรวม สามารถสะสมคอยด์ (Spirit Coin) และนำไปใช้กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการได้ กลุ่มที่สอง คือ ผู้ดูแลระบบ (Admin) ผู้ที่สามารถเพิ่ม Spirit Coin ให้จิตอาสาและแก้ไขปรับปรุงดูและระบบหลังบ้าน กลุ่มที่สาม คือ ร้านค้า ผู้ที่อยากสนับสนุนโครงการ สนับสนุนจิตอาสา โดยมอบส่วนลดให้คนกลุ่มแรกนำ Spirit Coin ที่สะสมไว้มาแลกสินค้า บริการจากร้านค้าได้ ทั้งนี้ไลน์แอดมีการแสดงผลจำนวนคอยน์ที่ได้รับทันที
ส่วนระบบหลังบ้านจะมีการตรวจสอบการทำความความดีโดยผู้ดูแลระบบ เพิ่มคะแนนในรูปแบบ Spirit Coin ให้สมาชิก พร้อมแสดงสัญลักษณ์ระดับคะแนน เพื่อโน้มน้าวให้สร้างความดีเพิ่มคอยน์มากขึ้น มีการจัดระบบสร้างข้อมูลของร้านค้า แสดงรายละเอียดร้านค้าแบบ Visual Reality ส่วนลด ตำแหน่งร้านค้า (Google Map) และเงื่อนไขการแลกคะแนนของร้านค้า”
อาจารย์อครพล กฤตฤานนท์วงศ์ อาจารย์สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ วิทยาลัยการออกแบบ ผู้ออกแบบอัตลักษณ์โครงการ กล่าวว่า ตัวสปิริตคอยน์ (Spirit Coin) ที่เรานำมาแทนน้ำจิตน้ำใจของคนในชุมชนนั่น จึงเป็นภาพของตัวแทนสื่อกลางที่ใช้ในการสื่อสารบอกเล่าข้อมูลต่าง ๆ หรือแม้แต่การแสดงให้เห็นว่าน้ำใจของแต่ละคนมีมูลค่า มีคุณค่า การออกแบบตัวโลโก้ (Logo) จึงเริ่มจากคำว่า “ใจแลกใจ” นำมาใช้เป็นคำที่สื่อสารแล้วก็บอกเล่าเรื่องราวของตัวหลักหกสปิริต
ส่วนคอนเซ็ปต์ธีมสี คือนำเอาสีฟ้าและสีชมพูเข้ามาใช้ ด้วยแนวคิดง่าย ๆ ที่ว่าหัวใจเป็นสีชมพู ที่ซ่อนความหมายตัวจังหวัดปทุมธานีเป็นการนำเอาภาพลักษณ์ของชื่อจังหวัดมาขับเคลื่อน ปทุมหมายถึงดอกบัวที่เกี่ยวข้องกับสายน้ำนั่นก็คือสีฟ้า และเมื่อนำสีชมพูกับสีฟ้ามาใกล้กันจัดว่าเป็นคู่สีอบอุ่นไม่น้อย และมีความทันสมัยขึ้นมา จากนั้นจึงใช้คอนเซ็ปต์เดียวกันต่อยอดออกแบบให้เข้ากับทั้งสามแพลตฟอร์มตาม เชื่อว่าตอบโจทย์ให้กับประสบการณ์ของผู้ใช้งาน UX (User Experience) ที่ดึงดูดให้เข้ามาใช้งานที่สำคัญเชื่อมความรู้สึกของความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน UI (User Interface) ระหว่างมหาวิทยาลัยรังสิตและชุมชน
ดังนั้น ภาพลักษณ์ของโครงการจะสื่อสารให้เห็นพลังของคนในชุมชน พลังของสถาบันการศึกษาที่รวมกันเป็นหนึ่งที่บอกเล่าความเป็น “ชุมชนต้นแบบ” เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการับรู้ข่าวสาร การแบ่งปันประสบการณ์ การดูแลซึ่งกันและกัน รวมถึงการมีหัวใจจิตอาสาทำความดี และรู้สึกภาคภูมิใจที่การกระทำความดีที่แปรเปลี่ยนเป็นกำลังใจ “ใจแลกใจ” เกิดการสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมแห่งการช่วยเหลือ แบ่งปันของคนในชุมชนหลักหกอันเป็นแนวทางในการสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างชุมชนและมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี
แนวคิดโครงการภายใต้แพลตฟอร์มหลักหกสปิริต (Lakhok Spirit) เป็นอีกหนึ่งที่มหาวิทยาลัยรังสิตคาดหวังที่จะนำพาให้เกิดต้นแบบชุมชนร่วมทำความดี สังคมน่าอยู่ เพื่อเป็นทางเลือกของการบริหารจัดการชุมชน โดยอาศัยหลักการทำความดีและเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างชุมชนและมหาวิทยาลัยจะช่วยยกระดับจิตใจ ของคนในชุมชนให้กลายเป็นพลเมืองที่ดี ช่วยเหลือชุมชน สังคม และประเทศได้ในอนาคตต่อไป