ฟีโบ้ มจธ.เดินหน้าโครงการ Robotics for All เป็นปีที่ 2 มุ่งเน้นพัฒนาคนในทุกระดับ ประยุกต์ AI เข้ากับวิทยาการหุ่นยนต์ เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตและบริการ ผ่านการค้นคว้าวิจัย และนำทักษะไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับองค์กรและประเทศ
ยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันและนับวันยิ่งมีบทบาทกับวิถีชีวิตของคนมากขึ้น โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และวิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics) เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้ชีวิตของคนดีขึ้น ทำงานง่ายและสะดวกขึ้น ที่สำคัญเทคโนโลยีดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้เป็นฐานในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ แต่สำหรับประเทศไทยยังถือเป็นเรื่องใหม่ ดังนั้น จำเป็นต้องเร่งผลักดันการพัฒนาคนให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะด้าน AI และวิทยาการหุ่นยนต์เพิ่มมากขึ้น
โครงการส่งเสริมวิทยาการหุ่นยนต์สำหรับทุกคน และพัฒนานวัตกร/นักวิจัย/วิศวกร/วิสาหกิจเริ่มต้นด้านวิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics for All) เป็น 1 ใน 5 โครงการภายใต้ชุดโครงการ AI/Robotics for All ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นพัฒนากำลังคนให้มีความสามารถในด้านวิทยาการหุ่นยนต์ และ AI เพื่อขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ดำเนินการโดยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม
(ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ล่าสุด โครงการในปีที่ 1 (ระยะที่ 1) ตั้งแต่
เดือนพฤษภาคม 2563 ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 และเริ่มดำเนินโครงการต่อเป็นปีที่ 2 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 นี้เป็นต้นไป
รศ. ดร.สยาม เจริญเสียง ผู้อำนวยการ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า “A cradle of future leaders in robotics” คือ สโลแกนของ พีโบ้ ดังนั้น ในฐานะที่เราเป็นสถาบันที่เปิดสอนทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกเป็นแห่งแรกของประเทศ จึงมุ่งเน้นพัฒนาคนในทุกระดับตั้งแต่ประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา นักวิจัย developers หรือนักพัฒนา นวัตกร ไปจนถึงผู้ที่ทำงานอยู่แล้ว ทั้งผู้ประกอบการ SMEs หรือ Startup โดยการประยุกต์ AI เข้ากับวิทยาการหุ่นยนต์ เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตและบริการ ผ่านการค้นคว้าวิจัย และนำทักษะไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับองค์กรและประเทศ
การดำเนินงาน โครงการส่งเสริมวิทยาการหุ่นยนต์สำหรับทุกคน และพัฒนานวัตกร/นักวิจัย/วิศวกร/วิสาหกิจเริ่มต้นด้านวิทยาการหุ่นยนต์ หรือ Robotics for All นั้น แบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 การส่งเสริมวิทยาการหุ่นยนต์สำหรับทุกคน มี 4 โครงการย่อย และกิจกรรมที่ 2 การพัฒนานวัตกรนักวิจัยวิศวกรวิสาหกิจเริ่มต้นด้านวิทยาการหุ่นยนต์ มี 1 โครงการย่อย ซึ่งมีผลการดำเนินงานเกิดขึ้นในปีแรกหลายโครงการที่น่าสนใจ เช่น Advanced Learning Lab / Resource Sharing, System Integration Demonstration และPremium Training
“ตัวอย่างของ Advanced Learning Lab / Resource Sharing โครงการนี้เราได้สร้างและพัฒนาระบบการเรียนรู้ระยะไกลสำหรับการพิมพ์ชิ้นงานสามมิติ (Tele 3D Printing) 1 ระบบ ประกอบด้วย ชุดควบคุม 20 ชุด เว็บไซต์สำหรับเชื่อมต่อกับระบบควบคุมระยะไกล พร้อมจัดทำคู่มือการใช้งานออนไลน์ เพื่อให้ครูและเด็กนักเรียนของโรงเรียนในพื้นที่เดียวกันสามารถใช้เครื่องนี้ได้ผ่านระบบออนไลน์ที่เราพัฒนาขึ้น จุดเด่นคือ เด็กสามารถเห็นชิ้นงานขณะพิมพ์งานผ่านระบบออนไลน์ ครูสามารถล็อกอิน และจัดการระบบเองได้ โดยในปีแรกได้มีการติดตั้งระบบชุดควบคุมเครื่องพิมพ์สามมิติระยะไกลให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด จำนวน 20 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียน 16 แห่ง และวิทยาลัย 4 แห่งทั่วประเทศ (ภาคกลาง 9 แห่ง, ภาคเหนือ 3 แห่ง, ภาคอีสาน 12 แห่ง, ภาคตะวันออก 2 แห่ง และภาคใต้ 4 แห่ง) ซึ่งจากการพัฒนาระบบดังกล่าวจึงมีแนวคิดให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อให้นักเรียนได้เข้าถึงเทคโนโลยีด้านวิทยาการหุ่นยนต์ได้ง่ายขึ้นแม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลผ่านการใช้ทรัพยากรร่วมกัน หรือ Resource Sharing ซึ่งจะดำเนินการในปีถัดไป
ส่วน System Integration Demonstration ฟีโบ้ได้จัดทำหุ่นยนต์สาธิต (Affordable Platform) 3 ชุด ประกอบด้วย หุ่นยนต์บริการ หุ่นยนต์เคลื่อนที่สำหรับโลจิสติกส์ฯ และระบบหุ่นยนต์ควบคุมการลงนามเอกสารจากระยะไกลเพื่อนำไปใช้ในพิธีลงนามโรงเรียนเครือข่าย FIBO-School Consortium เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ และเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม สู่การนำไปใช้จริงเชิงพาณิชย์ และเพื่อให้เกิดการพัฒนา Affordable Platform ขึ้นภายในประเทศ ทำให้สามารถใช้เทคโนโลยีที่มีต้นทุนถูกลงเพิ่มศักยภาพการแข่งขันได้ในระดับ นานาชาติ สำหรับ Premium Training นั้นทำให้เกิดเครือข่ายการพัฒนาด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ FIBO-School Consortium กับโรงเรียนมัธยมกว่า 56 แห่ง เพื่อจัดทำหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในโรงเรียนระดับมัธยม และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการทำโจทย์จริงในอุตสาหกรรม (Co-op/WIL) ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นต้น ส่วนนักพัฒนาหรือนวัตกรและผู้ที่ทำงานนั้น เรามีการจัดอบรมหลักสูตร Non-degree เรื่อง Robotics และ Industrial Internet of Things: IIoT ซึ่งผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ต่อยอดทักษะเดิม สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง สามารถนำความรู้ไปปรับปรุงกระบวนการผลิตภายในสถานประกอบการของตนเองได้” รศ.ดร.สยาม กล่าว
ในส่วนของการสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายทั้งบุคคลทั่วไป นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ นักวิจัย นวัตกร และกลุ่มผู้ที่ทำงานอยู่แล้ว รศ.ดร.สยาม กล่าวว่า ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในการสร้างการรับรู้และความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับ AI และ Robotics ในกลุ่มคนทุกระดับได้มากกว่า 32,000 คน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้รวมกัน 7,000 กว่าคน สำหรับการดำเนินงานในปีที่สอง นอกจากกิจกรรมที่ทำต่อเนื่องจากปีแรก ยังมีเป้าหมายที่จะขยายผลโครงการ Resource Sharing เพิ่มขึ้นอีก 20 โรงเรียน โดยโรงเรียนที่ต้องการเข้าร่วมจะต้องมีคุณสมบัติ คือ จะต้องมีใจแบ่งปันทรัพยากรหรือแชร์ให้คนอื่นได้ใช้ นอกจากนี้มีการจัดทำหลักสูตรและการอบรม เพื่อสร้างกำลังคนที่มีคุณภาพสูงด้านวิทยาการหุ่นยนต์ เป็นต้น
ทั้งนี้ โครงการ Robotics for All เป็น 1 ใน 5 โครงการสำคัญภายใต้ชุดโครงการปัญญาประดิษฐ์/วิทยาการหุ่นยนต์สำหรับทุกคน (Artificial Intelligence and Robotics for All) หรือ AI/Robotics for All เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) มีเป้าหมายเพื่อสร้างกำลังคนด้าน AI และสร้างความตระหนักรู้แก่ทุกคน สร้างนักพัฒนาระบบ AI และ หุ่นยนต์ ป้อนสู่ตลาดแรงงาน และเพื่อสร้างนักวิจัยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ส่งเสริมองค์กรนำAI และหุ่นยนต์ไปใช้ในเกิดประโยชน์