Credit Clip Science Of Infinity
เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์จาก Copernicus Atmosphere Monitoring Service (สำนักงานบริการตรวจสอบสภาพากาศคอเปอร์นิคัส) ของสหภาพยุโรป เผยภาพหลุมในโอโซนที่ก่อตัวทุกปีเหนือขั้วโลกใต้ ทว่าในปีนี้มีขนาดใหญ่กว่าทวีปแอนตาร์กติกาแล้ว
ถือว่าเป็นเรื่องน่าตกใจเพราะชั้นโอโซนคือตัวช่วยปกป้องโลกจากรังสีอัลตราไวโอเลตที่ส่องจากดวงอาทิตย์ โดยทั่วไปโอโซนหมดลงและกลายเป็นรูเหนือท้องฟ้าของทวีปแอนตาร์กติกในฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกใต้ (หรือฤดูใบไม้ร่วงของซีกโลกเหนือ) ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ตามข้อมูลของ Copernicus รูนี้จะมีขนาดที่ใหญ่ที่สุดระหว่างกลางเดือนกันยายนถึงกลางเดือนตุลาคม
แต่ตอนนี้ดูมันเริ่มไม่ปกติ หลังจากขยายตัว "อย่างมาก" (กันยายน) ตอนนี้หลุมโอโซนมีขนาดใหญ่กว่า 75% เมื่อเทียบกับรูโอโซนของปีก่อน ๆ ในช่วงเวลาเดียวกันของฤดูกาลนับตั้งแต่ปี 2522 และตอนนี้มีขนาดใหญ่กว่าผืนดินของทั้งทวีปด้วยซ้ำ
แวงซองต์-อองรี เปิช ผู้อำนวยการ Copernicus กล่าวในแถลงการณ์ว่า ในปีนี้รูโอโซนพัฒนาขึ้นตามที่คาดไว้เมื่อเริ่มต้นฤดูกาล แต่ทว่า "ตอนนี้การคาดการณ์ของเราแสดงให้เห็นว่า รูในปีนี้มีวิวัฒนาการค่อนข้างใหญ่กว่าปกติ"
เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วรูโอโซนก็ขยายใหญ่จนผิดปกติเช่นกัน และหลังจากนั้นตามรายงานของ Copernicus ระบุว่ามันกลายเป็น “รูโอโซนที่เกิดขึ้นค้างอยู่ยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งในบันทึกข้อมูลของเรา”
ชั้นโอโซนในช่วงล่างของชั้นสตราโทสเฟียร์อยู่ห่างจากผิวโลกประมาณ 20 ถึง 30 กิโลเมตร และความหนาของชั้นบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูและภูมิศาสตร์ มันช่วยปกป้องโลกจากรังสีอัลตราไวโอเลต
รูโอโซนในซีกโลกใต้มักเกิดจากสารเคมี เช่น คลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) ซึ่งเป็นสารเคมีถูกควบคุมครั้งแรกโดยพิธีสารมอนทรีออล โดยลงนามครั้งแรกในปี 2530 ในสหรัฐอเมริกาคาดว่า จะเลิกใช้ภายในปี 2573 ตามรายงานของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม แวงซองต์-อองรี เปิดเผยว่า “ในปี 2561 มีการตรวจพบคลอโรฟลูออโรคาร์บอนระดับสูงในชั้นบรรยากาศซึ่งในที่สุดก็สืบย้อนไปถึงจีน หากการปล่อยมลพิษที่ผิดกฎหมายดังกล่าวตรวจไม่พบในบางครั้งอาจทำให้กระบวนการ (ฟื้นฟู) ทั้งหมดสะดุดลง เพราะคลอรีนและโบรมีนในชั้นบรรยากาศสามารถหยุดการปรับระดับและทำให้เสถียรหรือเพิ่มขึ้นได้ (ของโอโซน)"
จากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อเดือนที่แล้ว ระบุว่าหาก CFCs ไม่ถูกห้ามใช้อย่างจริงจังตามพิธีสารมอนทรีออล อุณหภูมิโลกจะเพิ่มอีก 2.5 องศาเซลเซียส และชั้นโอโซนจะล่มสลาย มันอาจจะกลายเป็นปรากฏการณ์แบบงูกินหางด้วยซ้ำ
แต่หลุมโอโซนยังเป็นผลมาจากคลอรีนและโบรมีนที่ลอยเข้าเข้าสู่สตราโตสเฟียร์ ทำให้เกิดปฏิกิริยาเร่งในช่วงฤดูหนาวที่แอนตาร์กติด้วย
ในขณะที่อุณหภูมิที่พื้นผิวของดาวเคราะห์เพิ่มขึ้น สตราโตสเฟียร์ซึ่งมีโอโซนอยู่จะเย็นลง ชั้นสตราโตสเฟียร์เป็นที่ที่เมฆสตราโตสเฟียร์ขั้วโลกก่อตัวขึ้นในฤดูหนาว นักวิทยาศาสตร์ทราบว่า เมฆเหล่านี้ก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมทางเคมีที่เหมาะเจาะที่จะก่อให้เกิดสารคลอรีนและโบรมีน และยิ่งอุณหภูมิของสตราโตสเฟียร์เย็นลงเท่าใด เมฆในสตราโตสเฟียร์ที่มีขั้วโลกก็มีแนวโน้มที่จะก่อตัวมากขึ้นเท่านั้น
ถึงขนาดนี้แล้วสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนหรือไม่? แวงซองต์-อองรี เปิช กล่าวว่า ตอนนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่า ปีนี้คลื่นความร้อนที่รุนแรงแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในหลายส่วนของโลกและหลุมโอโซนขยายกว้างขึ้นจะมีความเชื่อมโยงกันหรือไม่
"ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องทำการวิจัยเพื่อให้เข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างการกู้คืนโอโซนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างถ่องแท้ แต่เรารู้ว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างการสูญเสียโอโซนกับอุณหภูมิ"
ข้อมูลอ้างอิง
• Jeevan Ravindran. (September 16, 2021). "The ozone hole over the South Pole is now bigger than Antarctica". CNN.
• Tereza Pultarova. (September 16, 2021). "This year's giant Antarctic ozone hole probably due to climate change". Space.com.
• https://remonews.com/swedeneng/this-years-ozone-hole-is-bigger-than-antarctica/