ย้อนกลับไปเมื่อ 1-2 ปีก่อน หลายคนอาจคุ้นชื่อเด็กสาวชาวสวีเดน ชื่อ “เกรย์ตา ทุนเบิร์ก” (Greta Thunberg) ผู้ซึ่งลุกขึ้นมาเรียกร้องรัฐบาลอย่างกล้าหาญให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เธอตัดสินใจไม่ไปโรงเรียน และออกมาประท้วงต่อรัฐบาลทุกวัน ทำใบปลิวอธิบายปัญหาโลกร้อนแจกให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมา จากนั้นก็ปรับแผนประท้วงทุกวันศุกร์ พร้อมจัดตั้งโครงการ Fridays for Future และสร้างเว็บไซต์ Fridays for Future ศูนย์กลางรายงานกิจกรรมโครงการ และนโยบายการจัดการปัญหาลดโลกร้อนของรัฐบาลแต่ละประเทศ ซึ่งมีเด็กและเยาวชนคนอื่นๆ เข้าร่วมประท้วงด้วยจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน
การกระทำเหล่านี้กระทบใจผู้ใหญ่ ทำให้เกรย์ตาได้รับเชิญไปกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีในงานประชุมระดับโลกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 24 (COP24) ที่สาธารณรัฐโปแลนด์ และยิ่งทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนกันมากขึ้น อีกทั้งการกระทำของเธอยังสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนทั่วโลกกล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น ตามคำพูดที่เธอเคยกล่าวไว้ว่า ‘No One Is Too Small to Make a Difference’ หรือ “ไม่มีใครเด็กเกินไปที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง”
เรื่องราวเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำว่า เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตนั้น มีพลังทางความคิดที่ต้องการจะเห็นประเทศของพวกเขา และโลกใบนี้พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น เฉกเช่น กลุ่มเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ในประเทศไทยกว่า 10,000 คน จาก 50 โรงเรียน ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พื้นที่ภูเก็ต และพื้นที่ขอนแก่น ที่ได้เข้าร่วมโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า หรือ The Electric Playground โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ที่ได้รับการสนับสนุนจาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
โดยเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้ให้ความสำคัญและความสนใจต่อการเปลี่ยน “ขยะ” ให้กลายเป็น “พลังงานไฟฟ้า” ภายใต้การบูรณาการองค์ความรู้แบบ STEAM หลายสาขาทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ และคณิตศาสตร์ เพื่อช่วยลดปัญหาขยะล้นโลก และนำความรู้ด้านการจัดการคัดแยกขยะที่ถูกต้องส่งต่อผู้คน ตลอดจนพลิกฟื้นขยะให้มีมูลค่าเพิ่ม และมีประโยชน์คืนสู่ชุมชน และประเทศชาติ
โครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า หรือ The Electric Playground มุ่งส่งเสริมความรู้เยาวชนระดับมัธยมศึกษา รวมถึงคุณครูให้เข้าถึงองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะอย่างถูกวิธี พร้อมเปิดเวทีให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่แต่ละโรงเรียนจัดทีม ประลองไอเดียแข่งขันสร้างสรรค์นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจากขยะเพื่อต่อยอดสู่การทำธุรกิจจริง และเป็นว่าที่ “นวัตกรด้านนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจากขยะอนาคตไกล”
เส้นทางการแข่งขันนี้ เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่จะได้ร่วมเรียนหลักสูตร STEAM4INNOVATOR ผ่านองค์ความรู้ Waste to Energy สู่การแข่งขันปั้นผลงานธุรกิจนวัตกรรมด้วย 4 สเต็ป ได้แก่ 1. รู้ลึก รู้จริง (Insight) 2. สร้างสรรค์ไอเดีย (Wow! Idea) 3. แผนพัฒนาธุรกิจ (Business Model) และ 4. การผลิตและการกระจาย (Production & Diffusion) ในสนามการเรียนรู้ 4 ด่าน ได้แก่ ด่านที่ 1 – EDTRICITY ด่านที่ 2 - ELECTRIC FIELD ด่านที่ 3 – ELECATHON และด่านที่ 4 - VOLTAGE STAGE
โดยในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564 ทางโครงการฯ ได้ดำเนินงานผ่านด่านที่ 1 และด่านที่ 2 มาแล้ว ซึ่งเด็กๆ กว่า 10,000 คน แบ่งเป็น 5 สาย ได้แก่ สาย A อ่อนนุช สาย B หนองแขม สาย C แพรกษา สาย D ขอนแก่น สาย E ภูเก็ต ได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผ่านการร่างไอเดียรูปแบบ Worksheet พร้อมทั้งมีกิจกรรมพบศูนย์มหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เพื่อนำเสนอผลงานบนเวที Pitching อย่างเข้มข้น ทำให้ค้นพบว่าเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่สร้างสรรค์ผลงานการจัดการขยะได้น่าสนใจและหลากหลายอย่างมาก ยกตัวอย่างผลงานบางส่วน ดังนี้
ทีม ‘ไงครับเคมั้ยครับ’ ตั้งโจทย์ท้าทายว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะลดขยะเฟอร์นิเจอร์เพื่อให้ง่ายต่อการขนย้ายและกำจัด โดยทำนวัตกรรมเครื่องบีบอัดเฟอร์นิเจอร์ ใช้ AI สแกนเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นเพื่อประเมินสภาพในการแยกชิ้นส่วน หรือสร้างแอปพลิเคชันรับขยะเฟอร์นิเจอร์ไปรีไซเคิลโดยเฉพาะ เพื่อช่วยลดปัญหาแก่เจ้าหน้าที่เก็บขยะ เทศบาล แม่บ้านตามคอนโดมิเนียม ในการขนย้ายขยะขึ้นรถไปจัดการเนื่องจากมีขนาดใหญ่
ขณะที่ทีม ‘EFG’ ตั้งโจทย์ท้าทายว่า ต้องการแก้ปัญหาขยะอินทรีย์ตามครัวเรือน และไม่เป็นพิษต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยจะนำขยะอินทรีย์ผ่านกระบวนการ Microbial Fuel Cell แล้ววัดค่าด้วยโวลต์มิเตอร์ เพื่อทดสอบว่าจะได้พลังงานไฟฟ้าออกมาเท่าใด หรือ ทีม ‘The ideas power’ ตั้งโจทย์ท้าทายว่า ต้องการแก้ปัญหาลดขยะรีไซเคิลและขยะที่ถูกจัดการไม่ตรงจุดตามชุมชน และในโรงเรียน โดยสร้างสรรค์แอปพลิเคชัน Modern Village เพื่อให้รู้เส้นทางขยะว่า ขยะที่ใช้แล้วจะนำไปคัดแยกขยะตามกลุ่มประเภท เช่น ซองขนม ซองกาแฟ จัดส่งไปชมรม หรือชุมชนเพื่อทำกระเป๋ารีไซเคิล หรือเศษอาหารส่งไปทำปุ๋ย นอกจากนี้ยังสร้างฟังก์ชันการซื้อบริการ แลกสะสมแต้มจากการคัดแยกขยะเพื่อความสะดวกสบายและเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชน เป็นต้น
ปัทมาวดี พัวพรมยอด ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การหมาชน) หรือ "เอ็นไอเอ" เปิดเผยว่า สิ่งที่เห็นจากกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ภายใต้การทำงานโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า หรือ The Electric Playground พบว่าเด็กๆ เกือบ 100% ตระหนักถึงความสำคัญของอนาคตที่แต่ละคนต้องเผชิญเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะประเด็นในด้านสิ่งแวดล้อม เพราะที่ผ่านมาเด็กๆ หลายคนคุ้นชินกับภาพของขยะที่ยังไร้การกำจัดอย่างถูกวิธี รวมไปถึงผลเสียที่เกิดขึ้นในระบบห่วงโซ่ธรรมชาติ เช่น ภาพของสัตว์ที่ต้องกินขยะเป็นอาหาร ชุมชนที่รายล้อมไปด้วยสิ่งปฏิกูล หรือแม้แต่กระทั่งสัตว์ทะเลที่ต้องตายไปเนื่องด้วยขยะที่สะสมใต้ท้องทะเล ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปรสำคัญที่จะส่งผลถึงการใช้ชีวิตของพวกเขาในอนาคต แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็พบว่า เด็กๆ หลายคนมีทัศนคติที่ดีต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลง ประกอบกับประเด็นหลักเนื้อหาในหลักสูตรของโครงการที่แสดงให้เห็นว่าขยะสามารถเปลี่ยนเป็นทรัพยากรเพื่อแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ ทำให้เห็นถึงความพยายามในการเสนอทางออกผ่านการพัฒนานวัตกรรม รวมถึงมีไอเดียที่มีความสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก ซึ่งจากประสบการณ์ที่ได้ร่วมกันทำงานกับเด็กๆ เชื่อว่าพลังที่สร้างสรรค์เหล่านี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงมูลค่า และเป็นเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคต
“การจุดประกายและกระตุ้นให้เยาวชน – บุคลากรในภาคการศึกษาได้รู้จักการยกระดับปัญหาขยะไปสู่พลังงาน ถือเป็นการขับเคลื่อนอย่างมีพลัง และจะเป็นโมเดลที่จะขยายผลต่อไปในพื้นที่อื่นทั่วประเทศ โดยขณะนี้ทางโครงการได้โรงเรียน คุณครู และหน่วยงานที่เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะนำผลงานออกไปสู่การเป็นต้นแบบให้กับภาคธุรกิจ และภาคสังคม ได้เห็นและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกันในอนาคต นอกจากนี้ NIA ยังเชื่อว่าโครงการ The Electric Playground เป็นทางออกในด้านการให้ความรู้ด้านการจัดการขยะ และเป็นโมเดลที่สำคัญต่อวงการการศึกษาที่สามารถสร้างการตื่นรู้ให้กับอนาคตของชาติสามารถสร้างอนาคตของตัวเองได้อย่างแน่นอน”
สำหรับในเดือนกันยายน 2564 นี้ ได้เดินทางมาแล้วครึ่งทาง โดยเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่จากทั้งหมด 250 ทีม ได้นำเสนอผลงานบนเวที Pitching ต่อหน้าคณะกรรมการและคัดเหลือ 150 ทีม และคัดเหลืออีก 25 ทีม เข้าสู่ด่านที่ 3 – ELECATHON นำ 25 ทีม เข้าค่ายพัฒนานวัตกรผู้สร้างนวัตกรรมสุดพิเศษ ที่เข้มข้นและลงลึกทุกรายละเอียดเพื่อพัฒนาเหล่านวัตกรไปสู่รอบชิงชนะเลิศ ซึ่งทั้ง 25 ทีมจะต้องนำเสนอผลงานนวัตกรรมในเวทีระดับประเทศ กับเหล่าผู้ประกอบการ บริษัท องค์กร หรือกองทุนที่สามารถร่วมลงทุนให้นวัตกรรมหรือธุรกิจที่โดดเด่น เพื่อคัดเหลือสุดยอด 10 ทีมสุดท้าย เพื่อนำผลงานจัดแสดงนิทรรศการ และ 5 ทีมยอดเยี่ยม เพื่อเดินทางไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ ซึ่งการเข้าค่ายนี้จะครบครันด้วยผู้เชี่ยวชาญทางภาคธุรกิจ กระบวนกร และเมนเทอร์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ร่วมให้คำปรึกษาพร้อมแนะแนวทางให้แก่เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างใกล้ชิดด้วย
ทั้งนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้จัดตั้งโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า หรือ The Electric Playground ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ภายใต้แคมเปญ Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน ผ่านกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาตรา 97(5) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า สามารถติดตามเส้นทางการปั้นนวัตกรรุ่นเยาว์ที่จะร่วมกันแก้ปัญหาขยะ ตลอดจนติดตามความเคลื่อนไหวตลอดโครงการได้ที่ www.facebook.com/TheElectricPlaygroundThailand/