xs
xsm
sm
md
lg

2 แฟชั่นแบรนด์ดังใจตรงกัน ใช้แนวคิด Recycle สร้างความยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



Recycle เป็นวิธีการดูแลรักษาและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ถาโถมโลกของเรามากขึ้นทุกวัน และสามารถนำไปสู่ความยั่งยืน (Sustainability) ทั้งของโลกและของธุรกิจ ไปดูกันว่า 2 แบรนด์แฟชั่นแนวหน้าจากญี่ปุ่น “MUJI” กับ “Uniqlo” นำ Recycle มาใช้สร้างความยั่งยืนให้กับแบรนด์อย่างไร


๐ รักษ์โลกมากขึ้นด้วย ReMUJI

การก่อตั้งแบรนด์ MUJI ในช่วงแรก ไม่ได้ตั้งใจสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ให้เป็นสไตล์มินิมอล (Minimalism) อย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ แต่มีแนวคิดว่าจะผลิตสินค้าคุณภาพดีอย่างไรให้ประหยัดและมีราคาสมเหตุสมผลที่สุด จึงเน้นไปที่การสร้างสินค้าคุณภาพ เรียบง่าย และใช้งานได้อย่างคุ้มค่าจริงๆ นอกจากนั้น MUJI ยังมุ่งมั่นพัฒนาชีวิตที่ดีขึ้นให้ผู้บริโภคและสังคมอีกด้วย

โดยทุกผลิตภัณฑ์ได้ผ่านกระบวนการคิดมาแล้วว่าจะช่วยตอบโจทย์ปัญหาชีวิตของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการเน้นที่สีธรรมชาติ เพราะการแต่งสีจะเพิ่มขั้นตอนการผลิต สิ้นเปลืองต้นทุน และทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น เสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ผลิตมาจากเส้นใยและวัตถุดิบคุณภาพที่สามารถสืบค้นแหล่งที่มาได้ชัดเจน ซึ่งอาจจะมาจากชุมชนเล็กๆ ที่ผลิตฝ้ายออร์แกนิค หรือการเลือกใช้กาแฟดอยตุง บริการที่ร้านกาแฟของมูจิ เพราะเป็นกาแฟที่รสชาติดีและมีคุณภาพ ทั้งยังได้ช่วยสร้างชีวิตที่ดีให้เกษตรกรและชุมชนอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า ยิ่งผู้คนหันมาใส่ใจกระแส Sustainable Lifestyle มากขึ้นเท่าไร การสร้างสรรค์แฟชั่นรักษ์โลกก็พัฒนาไปอย่างน่าสนใจมากขึ้นเท่านั้น หนึ่งในวิสัยทัศน์ของ Ryohin-Keikaku Group บริษัทแม่ของ MUJI ประเทศญี่ปุ่น คือ “สร้างความยั่งยืน” (Sustainability) ตลอดเส้นทาง ทั้งในระบบซัพพลายเชนตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งวัตถุดิบยั่งยืน ไม่มีผลกระทบต่อธรรมชาติ และใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


ขณะเดียวกัน MUJI ได้นำแนวคิดรีไซเคิล และการย้อมสีใหม่ เข้ามาอยู่ในกระบวนการผลิตด้วย โดยได้สร้าง Sub-brand ในชื่อ ReMUJI เพื่อลดขยะ และมอบชีวิตใหม่ให้กับสินค้าเหล่านี้ ด้วยการนำสินค้าคงค้าง แต่คุณภาพยังดีอยู่ นำกลับมาผลิตใหม่ด้วยวิธีการย้อมครามแบบญี่ปุ่น และมีเฉดสีแบบที่เรียกกันว่า Japan Blue

จุดเริ่มต้นของ ReMUJI มาจาก FUKU-FUKU Project องค์กรรักษ์สิ่งแวดล้อมที่สร้างเครือข่ายกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปต่างๆ เพื่อร่วมกันลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง และใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด โดย MUJI ได้เข้าร่วมด้วยการเปิดรับบริจาคเสื้อผ้ามือสองตาม MUJI สาขาต่างๆ ทั่วญี่ปุ่น แล้วคัดเลือกเสื้อผ้าสภาพดีเอาไว้ นำมาทำความสะอาด แล้วจึงนำไปย้อมคราม ส่วนเสื้อผ้าที่ชำรุดมากๆ จนใช้การไม่ได้ จะถูกส่งไปยัง FUKU-FUKU Project เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิต Bioethanal


อีกหนึ่งตัวอย่างของการริเริ่มวิธีการลดวงจรการสร้างขยะเหลือใช้ที่จะกลายเป็นภาระแก่โลกคือการทบทวนการเลือกวัสดุที่จะนำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ของสินค้า และได้เริ่มทยอยเปลี่ยนตะขอห้อยถุงเท้ามุมฉาก ตั้งแต่ช่วงหน้าร้อนปีค.ศ. 2019 ไปใช้เป็นกระดาษแทน โดยถุงเท้ามุมฉากนั้นเป็นหนึ่งในสินค้ายอดนิยมอันเป็นเอกลักษณ์ของมูจิ ดังนั้นจึงคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยตรงนี้ จะช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกได้มหาศาล จึงได้เริ่มดำเนินการค้นคว้าโดยตรวจสอบปริมาณของสินค้าที่แสดง มองหารูปร่างที่ยากต่อการร่วงหล่นจากจุดที่เกี่ยว มีการทดลองใช้งานจากต้นแบบอันหลากหลาย จนได้ออกมาเป็นตะขอที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งช่วยลดการใช้พลาสติกได้มากถึง 56 ตันต่อปี เช่นเดียวกันกับหมุดพลาสติกที่เชื่อมถุงเท้าเข้ากับตัวป้ายได้กลายเป็นเส้นด้าย และนั่นหมายความว่านอกจากตัวถุงเท้าแล้ว สิ่งอื่นนอกเหนือจากตัวสินค้าสามารถนำไปกำจัดได้ในหมวดขยะเผาทำลาย


สำหรับในประเทศไทย ล่าสุดเมื่อกลางปี 2564 นี้ MUJI เปิดมุม Zero Waste Community เป็นครั้งแรก ที่สาขาเซ็นทรัล ชิดลม โดยจับมือกับแบรนด์ Normal Shop ให้ลูกค้านำภาชนะมา “รีฟิล” แชมพู สบู่เหลว น้ำยาล้างจาน ฯลฯ เพื่อลดการใช้พลาสติก

ตั้งแต่เริ่มก่อร่างธุรกิจจนถึงวันนี้ MUJI ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจบนเส้นทางของความยั่งยืน


๐ UNIQLO ใช้แนวทางรีไซเคิล แบบผลิตภัณฑ์สู่ผลิตภัณฑ์

ยูนิโคล่ อีกหนึ่งแบรนด์แฟชั่นที่ประกาศสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ตามแนวทางความยั่งยืน ด้วยการมุ่งมั่นส่งมอบเครื่องแต่งกายซึ่งสะท้อนความใส่ใจด้านความยั่งยืนที่มากขึ้นให้กับลูกค้า อาทิ การเลือกใช้วัสดุที่ยั่งยืนและการลดปริมาณทรัพยากรที่ใช้ในขั้นตอนการผลิตให้น้อยลง

ที่ผ่านมา ยูนิโคล่ยังได้ริเริ่มโครงการ All-Product Recycling หรือโครงการบริจาคเสื้อผ้าที่อยู่ในสภาพที่ยังสวมใส่ได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เพื่อรวบรวมเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้แล้วจากลูกค้า และนำมาส่งมอบต่อให้กับผู้ลี้ภัยและกลุ่มคนที่อยู่ในสภาวะขาดแคลนทั่วทุกมุมโลก และได้ช่วยสนับสนุนการรีไซเคิลแบบผลิตภัณฑ์สู่ผลิตภัณฑ์หรือ product-to-product ส่วนเสื้อผ้าที่ไม่สามารถนำไปใช้ใหม่ได้จะถูกรีไซเคิลเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกเพื่อลดการปล่อยก๊าซ CO2 หรือวัสดุซับเสียง

โครงการ RE.UNIQLO การรีไซเคิลแบบผลิตภัณฑ์สู่ผลิตภัณฑ์ ตั้งใจสร้างคุณค่าใหม่ให้กับเสื้อผ้าเก่าของยูนิโคล่ที่ไม่ได้ใช้แล้ว เป็นการตอกย้ำพันธกิจในการดำเนินงานเพื่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ผ่านการลดปริมาณการสร้างขยะจากทรัพยากรที่ยังมีคุณค่า


โครงการ RE.UNIQLO เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญบนเส้นทางแห่งความพยายามเพื่อสร้างสรรค์ความยั่งยืน มีการเปิดตัวใน 21 ประเทศ คำว่า RE ใน RE.UNIQLO เป็นตัวแทนของ 3R ซึ่งเป็นแนวทางในการนำกลับมาผลิตใหม่ (Recycle) การนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการลด (Reduce) ภายใต้โครงการนี้ ยูนิโคล่ได้รวบรวมเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วจากลูกค้าและนำมาผ่านกระบวนการผลิตอีกครั้งเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยตลอดขั้นตอนเหล่านี้ มีการใช้ปริมาณขยะและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการใช้ทรัพยากรที่น้อยลงตลอดอายุของเสื้อผ้า ยูนิโคล่ได้ร่วมมือกับลูกค้าภายใต้โครงการ RE.UNIQLO เพื่อช่วยกันผลักดันแบรนด์สู่จุดยืนที่เป็นมิตรต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบในขณะเดียวกัน


โปรเจกต์รีไซเคิลดาวน์ นับเป็นไอเทมแรกภายใต้โครงการ RE.UNIQLO ที่รวบรวมเสื้อผ้าตัวเก่าของ ยูนิโคล่เองมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ สำหรับประเทศไทยในช่วงแรกเริ่มเปิดรับเฉพาะเสื้อแจ๊คเก็ตดาวน์ขนเป็ดตัวเก่าของยูนิโคล่ของผู้ชายและผู้หญิง ตั้งแต่ 26 ตุลาคม 2563 ที่ร้านยูนิโคล่ทุกสาขา และในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ยูนิโคล่ ประเทศไทยได้เริ่มวางจำหน่ายสินค้าที่นับเป็นผลิตภัณฑ์ตัวแรกจากโครงการ RE.UNIQLO

เสื้อแจ๊คเก็ตรีไซเคิลดาวน์ขนเป็ดเป็นผลงานทีมนักออกแบบของ คอลเลคชั่น UNIQLO U ของศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของยูนิโคล่ในกรุงปารีส โดยมี คริสตอฟ เลอแมร์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์เป็นผู้ดูแล ขนเป็ดในไอเทมเสื้อผ้าใหม่ทั้งหมดได้มาจากเสื้อแจ๊กเก็ตดาวน์ขนเป็ดจำนวน 620,000 ตัวที่รวบรวมจากลูกค้าทั่วประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 และผ่านการนำมาสร้างสรรค์ใหม่อีกครั้ง กลายเป็นเสื้อผ้าคุณภาพสูงให้ทั้งการสวมใส่สบายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


นอกจากโครงการฯ แล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ที่นำโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลที่ผลิตจากขวดพลาสติก PET มาเป็นส่วนประกอบ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อโปโล DRY-EX ช่วยระบายเหงื่อได้เร็ว เริ่มวางขายในฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2020 มีโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลที่ผลิตจากขวดพลาสติก PET เป็นส่วนประกอบ 32 เปอร์เซ็นต์ หรือเสื้อแจ็คเก็ตผ้าพลีซ เริ่มวางขายในฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2020 ใช้เส้นใยทำจากโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลที่ผลิตจากขวดพลาสติก PET เป็นส่วนประกอบ 30 เปอร์เซ็นต์ หรือกางเกงยีนส์ BlueCycle Jeans ที่ผลิตด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีการลดปริมาณการใช้น้ำ เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เป็นตัวอย่างผลิตภัณฑ์แห่งนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนที่มีการคิดค้นและผลิตออกมาจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น