xs
xsm
sm
md
lg

ทส.ชงครม. 3 ทางเลือก “ห้ามนำเข้าเศษพลาสติก” หลังเจอเอ็นจีโอ กระทุ้งหนัก!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาสังคม 108 องค์กร/บุคคล รวมเป็นประชาชนกว่า 32,000 คน ยื่นหนังสือเปิดผนึกไปยัง รมว.ทส. ขอให้ทบทวนและยกเลิกมติของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ขยายเวลาให้มีการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศได้อีก 5 ปี




ซึ่งต่อมา ทส. ได้ออกข่าวชี้แจง แต่ในที่สุดก็จัดประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา นำโดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานการประชุม ร่วมด้วยเครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดยนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ มาให้ข้อมูลการนำเข้าเศษพลาสติก

ในการประชุมร่วมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) และคณะอนุกรรมการจาก 22 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ทำหน้าที่อนุกรรมการและเลขานุการ ในการประชุม รมว.ทส. ย้ำถึงความมุ่งมั่น เดินหน้าตามนโยบาย BCG (Bio – Circular – Green Economy) การคำนึงถึงความสมดุลในทุกมิติ ทั้งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ในการบริหารจัดการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศ

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดี คพ.เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการควบคุมการนำเข้าเศษพลาสติกในเขตปลอดอากรและเขตประกอบการเสรี การติดตามตรวจสอบตู้เศษพลาสติกคงค้าง และได้มีวาระการพิจารณาทบทวนนโยบายและมาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในการประชุมช่วงวาระดังกล่าวได้เชิญตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคม คือ ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้กล่าวให้ข้อมูลและแสดงข้อคิดเห็นต่อที่ประชุม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคณะอนุกรรมการ ทำให้มีการพิจารณาอย่างรอบด้านทั้งมุมมองจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยที่ประชุมได้มีมติมอบหมาย คพ. หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางเลือกด้านเงื่อนไขระยะเวลาการห้ามนำเข้าเศษพลาสติก จัดทำข้อดี ข้อเสีย โดยกำหนดแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ก่อนเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาและเสนอคณะรัฐมนตรี แนวทางการดำเนินงาน 3 ทางเลือก มีดังนี้

แนวทางที่ 1 ห้ามนำเข้าเศษพลาสติก ในปี 2564 ตามมติคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 (กขป.5)

แนวทางที่ 2 ห้ามนำเข้าเศษพลาสติก ในปี 2569 ตามมติคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564

แนวทางที่ 3 ห้ามนำเข้าเศษพลาสติก ในปี 2566

ทั้งนี้ หากมีการดำเนินงานตามแนวทางที่ 2 และ 3 จะต้องมีการกำหนดสัดส่วนเพื่อส่งเสริมการใช้เศษพลาสติกภายในประเทศ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเมื่อต้องใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงาน 100% สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยระบบโมเดลเศรษฐกิจ BCG นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบถึงการพัฒนากฎหมายเพื่อเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ภายในปี 2565 ที่ได้ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง ตาม Road Map การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 โดยที่ประชุมเห็นด้วยในการออกประกาศกำหนดประเภทการผลิตพลาสติก เป็น 2 ชนิด คือ 1) พลาสติกแบบรีไซเคิล 100 % และ 2) พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ (compostable plastic) ซึ่งจะมีการกำหนดมาตรฐานพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพเป็นมาตรฐานบังคับภายใต้ สมอ. มีตราสัญลักษณ์และแสดงวิธีคัดแยก รวมถึงการควบคุมการผลิตโฟมบรรจุอาหาร ถุงพลาสติกหูหิ้ว แก้วพลาสติกแบบบาง หลอดพลาสติก โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมนำ (ร่าง) ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้ง 5 ฉบับ ไปดำเนินการต่อไป

จากกรณีที่ในกระแสโซเชียลได้มีการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนว่ามีการให้กลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม ออกจากการประชุม VCT นั้น 
นายอรรถพล ได้ชี้แจงว่า การประชุมคณะอนุกรรมการฯ ในวันนั้นมีวาระสำคัญที่ต้องพิจารณา 2 วาระ โดยฝ่ายเลขาฯ ได้เชิญตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคม คือ มูลนิธิบูรณะนิเวศเข้าร่วมให้ข้อมูลและให้ข้อคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องในวาระที่ 3.1 นโยบายและมาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก โดยเมื่อการประชุมดำเนินไปถึงวาระที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายเลขาฯ จะได้เชิญให้ตัวแทนได้เข้าร่วมให้ข้อมูลและให้ข้อคิดเห็นอย่างครบถ้วนต่อที่ประชุมจนจบในวาระนั้น จากนั้นฝ่ายเลขาฯ จึงได้เชิญออกจากการประชุม เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบการประชุมซึ่งจะมีองค์ประชุมเป็นคณะอนุกรรมการฯ เท่านั้น และได้ดำเนินการประชุมในวาระถัดไปในลักษณะเดียวกัน คพ. ขอยืนยันว่าไม่ได้ปิดกั้นการรับฟังข้อมูลของเครือข่ายภาคประชาสังคมแต่อย่างใด จึงขอทำความเข้าใจกับเครือข่ายภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนในประเด็นดังกล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น