xs
xsm
sm
md
lg

ระดับคุณธรรม-โปร่งใส ต้านคอร์รัปชันภาครัฐไหม / ดร สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ก.ล.ต.ภูมิใจ ได้คะแนนการประเมินด้านคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน ติดกลุ่มเกรด A เป็นตัวอย่างองค์กรที่ตื่นตัวในเรื่องนี้ เพราะเป็นปัจจัยหัวขบวนของหลักESG ซึ่งเป็นแนวทางสู่ผลลัพธ์ความยั่งยืน ในการกำกับตลาดทุนไปสู่ทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายของโลกขณะนี้

นี่เป็นความเคลื่อนไหวสำคัญของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA (Integrity and Transparency Assessment) ประจำปีงบประมาณ 2564

ป.ป.ช.มีแนวคิดการประเมิน ITA ก็เพื่อจะเป็นเครื่องมือเชิงบวก ที่มุ่งให้เกิดการพัฒนาระบบราชการไทยเชิงสร้างสรรค์ มากกว่าการมุ่งจับผิด เพื่อให้เกิดผลการดำเนินงานที่ถูกต้องและเป็นธรรม


รื่นฤดี สุวรรณมงคลเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ผลการประเมินปีนี้โดยภาพรวมเราได้คะแนนเพิ่มเป็น 93.79 ( ปีก่อนได้ 91.79 คะแนน)

คะแนนที่ได้รับเพิ่มขึ้นมาจากด้านสำคัญได้แก่
● การปรับปรุงการทำงาน ได้ 86 คะแนน(ปีก่อนได้ 77. 45 คะแนน)
● การป้องกันการทุจริต ได้ 100 คะแนน (ปีก่อน 93.75 คะแนน)
● ประสิทธิภาพการสื่อสาร ได้ 87.1 2 คะแนน (ปีก่อน 84.4 3 คะแนน)


"ก.ล.ต.มีความมุ่งมั่นดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ แล้วจะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป"

เครื่องมือตรวจสุขภาพองค์กร
การประเมินด้วยวิธีการ ITA เหมือนเครื่องมือตรวจสุขภาพองค์กรประจำปีแบบหนึ่ง ด้วยวัตถุประสงค์คือ

1) เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ รับทราบสถานะ และปัญหาการดำ
เนินงาน ด้านคุณธรรมและความโปร่งใส

2) ผลการประเมิน เป็นข้อมูลที่นำไปใช้ปรับปรุงการทำงาน และพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพด้านต่างๆ
●การปฏิบัติงาน
●การให้บริการ
●การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
อีกทั้งนำไปใช้ในการจัดทำแนวทาง มาตรการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในปีงบประมาณต่อไป

3) การประเมิน ITAถูกกำหนดให้เป็นเครื่องมือในการยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานภาครัฐ ตามตัวชี้วัดที่กำหนดในแผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นการต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบ

คะแนนภาพรวมบอกอาการ
1)หน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่ พยายามเรียนรู้แนวปฏิบัติเพื่อปรับปรุงงาน
เพิ่มประสิทธิภาพ ให้โปร่งใส และลดโอกาสการทุจริต

2)หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ ที่ผ่านเกณฑ์ 85% ขึ้นไป มี 4,146 หน่วยงาน( 49.95%) แม้มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ถึงครึ่งของเป้าหมายตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ในประเด็นต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งกำหนดว่า...ในปีงบประมาณ 2565 หน่วยงานภาครัฐที่ผ่านเกณฑ์ 85% ต้องไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80

3)มีความพยายามพัฒนาระบบสารสนเทศของหน่วยงานให้ดีขึ้น เพื่อรองรับการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะให้มากขึ้น

4)ตัวชี้วัดที่มีคะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุด คือการป้องกันการทุจริต อาจจะเกิดขึ้นในหน่วยงาน มีคะแนนเพียง 66.21 คะแนน

5)พื้นที่หน่วยงานภาครัฐ ในภาคอีสาน มีคะแนนในระดับจังหวัดยังต่ำจึงต้องมีแผนพัฒนาอย่างเร่งด่วน


ข้อคิด…
เพราะเรากำลังอยู่ในยุคดิจิทัล ซึ่งทุกคนรับรู้ข่าวสาร ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว หลากหลายช่องทาง และสามารถสืบค้นข้อมูล จนคล้ายไม่มีความลับในยุคนี้ ที่โลกใบนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ผมนึกถึงวรรคทองอมตะของ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ กูรูแห่งโลกสมัยใหม่ที่ว่า…

“หากคุณวัดผลไม่ได้ คุณก็พัฒนาไม่ได้“

ป.ป.ช.ทำโครงการวัดผลการการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ด้านคุณธรรมและความโปร่งใส มาหลายปีก็เป็นเจตนาดี เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงและพัฒนา

แต่น่าจะได้ทบทวนดูว่าสิ่งที่ได้ทำ(Output) ก่อให้เกิดผลลัพธ์(Outcomes) และการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น (Impact)ต่อสังคมเพียงไร ในเมื่อหน่วยงานภาครัฐควรมีจุดมุ่งหมายหรือปณิธาน ”บำบัดทุุกข์ บำรุงสุข”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ท้าทายต่อความรู้สึกของสังคม ก็คือวงการตำรวจ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนยุติธรรม ที่มีข้อมูลประจักษ์ชัดมากมาย จนเกิดกระแสเรียกร้องว่าต้องปฏิรูปตำรวจ เหตุการณ์ ”ผู้กำกับโจ้” ที่ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหา แล้วจัดการจนเสียชีวิต นับเป็นลักษณะทุจริตต่ออำนาจหน้าที่ไหม

ขณะที่ผลการประเมิน สนง.ตำรวจแห่งชาติ ได้คะแนน 86 .96 (เพิ่มขึ้น 3.01) อยู่ในเกรด A สังคมจะรู้สึกอย่างไร


การทำงานของหน่วยงานภาครัฐด้านคุณธรรมและความโปร่งใส ที่ประเมินผลกันทุกปีนั้น น่าจะปรับให้ครอบคลุมองค์ประกอบของ”หลักธรรมาภิบาล” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่คำนึงถึงการทำงานที่ ซื่อสัตย์ สุจริต รับผิดชอบ ถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อส่งผลดีต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม
suwatmgr@gmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น