สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร ถึงแม้โควิด-19 ใกล้จะสงบ แต่ภารกิจผู้นำไม่มีวันสลาย “กระทิง เรืองโรจน์ พูนผล” ประธาน Kasikorn Business-Technology Group (KBTG) บริษัทเทคโนโลยีในเครือธนาคารกสิกรไทย บอกว่า สถานการณ์โควิด-19 เป็นช่วงเวลาอันหนักหน่วง ที่ฮีโร่ทุกคนกำลังถูกวิกฤตบีบคั้น แต่มันก็จะหล่อหลอมภาวะผู้นำให้โดดเด้งขึ้นมาท่ามกลางวิกฤต
“วิกฤตจะสะท้อนด้านที่ดีที่สุดออกมา ถ้าผู้นำสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ จะดึงพลังคนและองค์กรออกมามหาศาล ต่อให้โควิด-19 จบไปแล้ว ก็ให้เราต่อสู้เหมือนกับเราอยู่ท่ามกลางหายนะโควิด-19 ในทุกๆ วัน เพราะการเปลี่ยนแปลงองค์กรไม่มีวันสิ้นสุด”
เขาผ่านร้อนผ่านหนาวในศึกสงครามแห่งการเปลี่ยนแปลงนับครั้งไม่ถ้วน จากการใช้เวลาช่วงหนึ่งของชีวิตอยู่ที่ Silicon Valley เมืองหลวงแห่งนวัตกรรม แหล่งกำเนิดซูเปอร์สตาร์อย่าง Google, Apple, Yahoo, Instagram, Snapchat, Uber และยูนิคอร์นอีกฝูงใหญ่
ทำงานในตำแหน่ง Product Marketing Manager (Global Lead) Google Earth/Ocean/Moon/Mars/Sky บริษัทกูเกิล สำนักงานใหญ่
เมื่อก้าวจังหวะชีวิตสุกงอม เขาก็เดินทางกลับเมืองไทย เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตอีกครั้ง
หลากหลายมุมมองความคิดของการสร้างภาวะผู้นำ ที่เขาบรรยายไว้ในหัวข้อ Leadership with Learning Strategy : Going Beyond the Future of Work ในงาน Learning Development Forum 2021 (virtual conference) จัดโดย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (PMAT) เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ทำให้หลายคนได้เข้าใจโลกของผู้นำมากขึ้น ว่ามันไม่ได้สนุกอย่างที่คิด และมันก็ลำบากเกินกว่าจะจินตนาการ
“ตอนปี 2019 เคยคาดการณ์กันว่า องค์กรจะค่อยๆ เกิด disruption domino ในธุรกิจต่างๆ คือภาวะชะงักงันที่ไล่ตามๆ กันมา แต่พอโควิด-19 เข้ามา สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีเลยก็คือ โดมิโนล้มทุกตัว และจากนี้ไปจะเกิดดิสรัปชั่นต่อเนื่องราวกับลูกคลื่น”
อะไรอยู่ข้างหน้าพวกเราหลังปี 2021?
ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเกิดจุดหักศอกขนานใหญ่ 2 ครั้ง หลังจากนั้นจะเกิดการยกเครื่องใหม่ในระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะใช้เวลาอีกราว 10-15 ปีข้างหน้า ตอนนี้องค์กรอยู่ในช่วงที่ต้องเร่งสร้างการเปลี่ยนแปลง transformation ในยุคที่ Covid-19 เป็นผู้บริหารระดับ C level เปรียบได้กับมหาวายร้าย “ธานอส” ตัวละครดังจากหนังสือการ์ตูนมาร์เวลคอมิกส์ ผู้สร้างความปั่นป่วนไปทั่วจักรวาลมาร์เวล
“บริษัทต้องเร่งเครื่องทรานส์ฟอร์มมหาศาล เพราะเราอยู่ในช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับภูมิภาคเอเชีย ที่กำลังเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดโลก เรียกได้ว่าเราอยู่ถูกที่ถูกเวลา”
“Nick Nash, venture capital” บอกว่า บริษัทกำลังบ่ายโฉมหน้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเหล่านี้กำลังเข้าสู่ยุคทอง
ดังนั้น สถานการณ์โควิด-19 ในช่วงเวลานี้คือ การผลักองค์กรให้ไปอยู่ในแกนกลางพายุ ที่ทุกองค์กรต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และต้องสร้างองค์กรแห่งการเปลี่ยนผ่าน เพราะอีก 10 ปีข้างหน้า เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดขององค์กร ที่สามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
และในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ บรรดากลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ ยูนิคอร์นจะไม่ cool อีกแล้ว เพราะมีม้ามืดตัวใหม่ แห่มาเพิ่มอีก 20 ตัว
ทรานส์ฟอร์มเป็นเรื่องยากเอามากๆ ต้องเริ่มจากแก่นใน จะมาทำแบบผิวเผินไม่ได้ และต้องเริ่มจากด้านบนก่อนเสมอ ไม่ได้เริ่มจาก HR แต่เริ่มจากผู้บริหารตระกูล C ที่ต้องมีความตระหนักถึงวิกฤตที่เกิดขึ้น พอวิกฤตแล้ว ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และทรานส์ฟอร์มองค์กรไปพร้อมๆ กันในทุกวัน องค์กรต้องลุกขึ้นมาหมั่นซ้อม เพราะโลกอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีดิสรัปเข้ามาไม่หยุดหย่อน
ทำไมองค์กรต้องทรานส์ฟอร์ม? ถ้าตอบเหตุผลทางยุทธศาสตร์ คือการส่งสารให้ทุกคนเดินไปพร้อมกัน
“หน้าที่ผู้นำหลังโควิด-19 หนักหน่วงมาก ต้องเป็นผู้นำแนวคิดใหม่ ต้องทำกลยุทธ์หลังโลกใหม่ โลกหลังโควิด-19 เปลี่ยนไปมหาศาลแน่นอน ตอนนี้ทุกอย่างทำได้หมด ทำให้เกิดธุรกิจส่งอาหาร ตอนนี้ home economy กำลังเติบโต คนทำทุกอย่างจากที่บ้าน โลกใหม่ ภูมิทัศน์ใหม่ เปลี่ยนไปมหาศาล
ผู้นำต้องวางสถาปัตยกรรมองค์กร ออกแบบโครงสร้างองค์กร มีความรู้ความสามารถ มีระบบบริหารจัดการ เป็น Chief Culture Officer หัวหน้าทีมบริหารวัฒนธรรมองค์กร เพราะวัฒนธรรมเป็นแก่น เป็นเส้นเลือด เป็นจิตวิญญาณ ให้ร่างกายขยับ”
วัฒนธรรมที่ดีต้องเริ่มจากเบื้องบน ต้องมองเห็นเลาๆ ว่า โลกจะเป็นอย่างไรต่อไป? อย่าใช้วิธีตัดแปะ ไปเอาวัฒนธรรมของเน็ตฟลิกซ์มาโมดิฟาย หรือแอบไปดึงเอากลยุทธ์จากอเมซอนมา เพราะจะทำให้องค์กรของเรากลายเป็น “ผีดิบแฟรงเกนสไตน์” ในบัดดล
ดังนั้นแล้ว หาให้ได้ว่าเหตุผลของการดำรงอยู่ในโลกใหม่คืออะไร? หาให้เจอ อย่าไปก๊อปปี้ เพราะทุกอย่างมันต้อง fit ในแบบของคุณเอง
การเปลี่ยนแปลงองค์กร ต้องเริ่มจากภูมิทัศน์ เชื่อมด้วยระบบภาวะผู้นำ ภาวะผู้นำเท่านั้นถึงจะทำให้เกิดทรานส์ฟอร์มขององค์กรได้ คิดสิคิด! ทำไมองค์กรของคุณต้องดำรงอยู่หลังโลกใหม่?
การทรานส์ฟอร์มต้องทำทุกส่วนไปพร้อมกัน ทั้งโมเดล กลยุทธ์ วัฒนธรรมองค์กร โครงสร้างองค์กร ระบบบริหารจัดการ และมันต้องเข้าพวกกัน โดยถามตัวเองว่า มันสอดคล้องกับกลยุทธ์ และโมเดลของคุณหรือเปล่า? จากนั้นจึงเอาเทคโนโลยีมาใส่เพื่อทรานส์ฟอร์ม ทุกอย่างต้องคิดเป็นระบบ
ข้อคิดสำหรับผู้นำคือ คุณต้องมีดีไซน์ มี inner passion อยู่เต็มหัวใจ เพราะยิ่งอยู่ระดับสูง จุดอ่อนจะยิ่งขยายมหาศาล ถ้าคุณสื่อสารห่วย ยิ่งนำการเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าใด จะไปแตะคนมหาศาล
สิ่งสำคัญคือ ต้องตระหนักเสมอว่า ตัวคุณมีจุดอ่อนอะไร? จะปิดจุดอ่อนได้อย่างไร? เพราะยิ่งทรานส์ฟอร์ม จุดอ่อนจะยิ่งขยายเป็นวงใหญ่
“ในโลกใบใหม่ จุดแข็งจะกลายเป็นจุดอ่อนเฉยเลย บางคนเก่งวางยุทธศาสตร์ 5 ปี แต่โลกใหม่ไม่มีหรอกยุทธศาสตร์ 5 ปี ต่อให้ 3 ปียังยาวเกินไปเลย โลกยุคใหม่ต้องการคนเก่งมาอยู่รวมกัน สร้างระบบนิเวศทางธุรกิจร่วมกัน”
ขณะเดียวกัน ผู้นำอย่าสร้างคนที่คิดเหมือนๆ กันใน comfort zone ต้องหาคนที่กล้าถกเถียง กล้าเผชิญหน้า จะได้เอามาเติมเต็มซึ่งกันและกัน และวัฒนธรรมองค์กรที่ดี จะสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมในทีมของผู้นำอีกด้วย
โลกใหม่ซับซ้อน มาไวไปไว การตัดสินใจต้องรวมศูนย์ มาถกเถียงกัน มันอาจเกิดวิกฤตต่อเนื่อง ข้อดีของวิกฤตโควิด-19 คือ ถ้าองค์กรคุณผ่านโควิด-19 ไปได้ คุณก็มีภูมิคุ้มกันต่อเนื่อง ไม่ต้องไปบูสไฟเซอร์เข็ม 3 แล้วก็ได้
ทำไมผู้นำถึงต้องทรานส์ฟอร์มตัวเอง? แล้วทำไมต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อองค์กร? แล้วทำไมองค์กรต้องเปลี่ยนแปลง? สารพัดคำถาม why? ที่นำไปสู่คำตอบนางงามว่า เพราะมันสร้างคุณค่าใหม่ๆ ให้องค์กร
และถ้าคุณตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ผิด มันกลับตัวลำบากมาก ขอบอก แต่ถ้าตัดสินใจเรื่องเล็กๆ พลาดบ้างไรบ้าง ถือว่าคุณได้เรียนรู้
ยิ่งสำเร็จมาก ยิ่งตาบอดหูหนวก ยิ่งกว่าหูซ้าย ทะลุหูขวา ความสำเร็จของผู้นำ ทำให้คนหูหนวกตาบอดมานักต่อนัก สิ่งสำคัญคือ หัดเข้าอกเข้าใจคนอื่นเสียบ้าง รับฟังคนอื่นบ้างก็ยังดี เพราะเหตุผลแห่งความเป็นอยู่ขององค์กร ผู้นำไม่ได้กำหนด แต่เป็นโลก คู่ค้า ลูกค้า พนักงาน และสังคม ตอนนี้เราทุกคนล้วนต่างอยู่ในโลกของประสบการณ์ร่วมกัน (total experience)
“เปิดใจ เปิดหู เปิดตา ฟังให้ได้ยิน คู่ค้า ลูกค้า พนักงาน ฟังด้วยหัวใจของ empathy listening ฟังอย่างตั้งใจ เอามาประมวลผล เอาน้ำเย็นราดหัว ตื่นขึ้นมาจากทุ่งลาเวนเดอร์เลย ถ้ามัวแต่ฝันหวาน คิดแต่จะเข้าข้างตัวเอง
เพราะในโลกใบใหม่ สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยก็คือ คนที่เข้าใจคู่ค้า เข้าใจลูกค้า เข้าใจพนักงาน เข้าใจสังคม ฉะนั้นผู้นำจึงต้องหาจุดร่วมให้ได้”
นอกจากนี้ ผู้นำต้องสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ ทดลองทำ ลองผิดลองถูก ปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กระจายอำนาจออกไป ให้การสนับสนุนทุกภาคส่วน ชื่นชมกับความล้มเหลว ยอมรับกับความผิดพลาดแบบไม่ตั้งใจไปบ้าง เฉลิมฉลองให้กับทุกความสำเร็จ และความล้มเหลวเท่าๆ กัน
สิ่งที่ทำให้ “วิสัยทัศน์” มันแตกต่างจาก “ความฝันเฟื่อง” คือ ในขณะที่ฝันเฟื่องฟุ้งไปไกลเหมือนดมกาว แต่วิสัยทัศน์ที่ดีคือ ความจริงที่ยังไม่เกิด
องค์กร KBTG ต้องการยกระดับความสามารถของผู้บริหารทุกระดับภายใน 4 ปี ในโลกยุคใหม่ ทรัพยากรที่ดีที่สุดคือ “ข้อมูล” แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าข้อมูลก็คือ “คนเก่ง”
“การทำทรานส์ฟอร์ม ทุกคนสำคัญหมด ต้องสื่อสารวิสัยทัศน์ จนกระทั่งตัวเองรู้สึกเหนื่อย ไม่ไหวแล้ว มันเบื่อเหลือเกิน กระทั่งมันฝังเข้าไปในหัวผู้บริหารและพนักงาน ให้เชื่อว่ามันสำคัญจริงๆ นะ ถ้าให้เหตุผลที่ถูกต้อง พนักงานจะอิน และร่วมแรงร่วมใจไปกับผู้นำ”
หน้าที่ผู้นำต้องมอบเป้าหมายใหม่ให้องค์กร สร้างเป้าหมายร่วม แล้วลุยไปด้วยกัน ชัยชนะจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าไม่มีคนมาร่วมฉลองด้วย และความพ่ายแพ้ มันก็แค่เรื่องชั่วคราว เดี๋ยวมันก็ผ่านไป
กระทิงบอกว่า เหตุผลที่ KBTG ดำรงชีวิตอยู่ มันมีแค่ไม่กี่อย่าง เราดำรงอยู่เพื่อสร้างเทคโนโลยี พยุงเส้นเลือดทางเศรษฐกิจให้กับคนไทย ดูแลองคาพยพเศรษฐกิจไทยทั้งหมด
วัฒนธรรมเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้ามีกลยุทธ์ที่ดี แต่ถ้าวัฒนธรรมองค์กรมันโหลยโท่ย คุณก็เป็นได้แค่หัวหน้าแฟรงเกนสไตน์ วิสัยทัศน์ของ KBTG จึงสอดประสานเป็นหนึ่งเดียว เพราะเราจะเป็นนัมเบอร์วัน นี่คือค่านิยมองค์กรที่เราเชื่อ และจะเชื่อตลอดไป แม้จะเกิดทรานส์ฟอร์มกี่ร้อยครั้ง (continuous transformation)
“เราจะเอาชนะคู่แข่ง ไม่ใช่แค่ 10-20% แต่เป็นการมองไปข้างหน้า แล้วพุ่งตัวออกไป คนกสิกรไทยเราเรียนรู้ทุกวัน นั่นคือทิศทางที่เราจะไป”
ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ในโลกยุคใหม่ มี impact มากๆ กับความเป็นไปขององค์กร และทำอะไรได้มากมายใน 10 ปีข้างหน้า ดังนั้น ผู้นำมีหน้าที่สร้างอนาคต ภาระจากนี้ไป จะหนักหนากว่ายุคก่อนโควิด-19 เพราะต้องสร้างวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ ต้องสร้างคน และสร้างวัฒนธรรมที่ดีในองค์กรทุกวัน
ถ้าทำแล้วเวิร์ก ก็มีโอกาสไต่ระดับขึ้นไป เป็นผู้นำแห่งศตวรรษได้เลย