xs
xsm
sm
md
lg

หาชมยาก! คลิปลูกนกเงือกหัวแรดรังสุดท้ายของปี โผล่ออกจากโพรง เผยอาหารที่ป้อนหลากหลายสะท้อนสภาพป่าฮาลา-บาลา อุดมสมบูรณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





ขอบคุณคลิป ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

สถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ ป่าฮาลา-บาลา เผยคลิปลูกนกเงือกหัวแรดกำลังออกจากโพรงซึ่งเป็นรังสุดท้ายของปี 2564 ยืนยันลูกนกในปีนี้ออกจากโพรงรังเกือบทั้งหมด ขณะที่อาหารที่พ่อนกคาบมาส่งให้ที่โพรงรังมีความหลากหลายนั้นสะท้อนถึงสภาพป่าฮาลา-บาลา มีความอุดมสมบูรณ์

เมื่อวานนี้ ( 27 สิงหาคม 2564) สถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ ป่าฮาลา-บาลา เผยแพร่คลิปพร้อมข้อมูลว่า ลูกนกเงือกหัวแรดโพรงรังสุดท้ายของปีนี้ออกแล้วเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งในปีนี้นกเงือกเข้ารังช้ากว่าปีก่อนเกือบทุกรัง สำหรับรังสุดท้ายในคลิปนี้ใช้เวลาที่อยู่ในรัง 120 วัน ซึ่งยังเป็นระยะเวลาที่อยู่ในรังเท่าๆ กับปีก่อนหน้า โดยเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยฯ ทำการเก็บข้อมูลไว้ตั้งแต่แม่นกเข้ารังเมื่อวันที่ 29 เมษายน 64 แม่นกออกจากรัง 11 กรกฎาคม 64 จนกระทั่งลูกนกออกจากรังเมื่อเวลา 07.12 น. ของวันที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา


จากการเก็บข้อมูลโดยการตั้งกล้องวิดีโอดูตอนเวลาที่พ่อแม่นกเข้ามาส่งเสบียง ทำให้สามารถจำแนกชนิดอาหารทั้งผลไม้และสัตว์ได้มากขึ้น นั่นทำให้ลูกนกเงือกปีนี้มีสุขภาพแข็งแรงจากการได้กินอาหารค่อนข้างหลากหลายกว่าปีก่อน

“อาหารที่พ่อและแม่นกป้อนให้มีทั้งพืชและสัตว์ โดยช่วงสองเดือนแรกส่วนใหญ่เป็นผลไม้ พอช่วงเดือนที่ 3 มีสัดส่วนอาหารที่เป็นสัตว์มากขึ้น โดยอาหารที่เป็นพืชเป็นพวกไทร มีอย่างน้อย 8 ชนิด ผลไม้ที่ไม่ใช่ไทรอีกอย่างน้อย 12 ชนิด เช่น หลาวชะโอน (𝑂𝑛𝑐𝑜𝑠𝑝𝑒𝑟𝑚𝑎 𝑡𝑖𝑔𝑖𝑙𝑙𝑎𝑟𝑖𝑢𝑚) ยางโอน (𝑃𝑜𝑙𝑦𝑎𝑙𝑡ℎ𝑖𝑎 𝑣𝑖𝑟𝑖𝑑𝑖𝑠) ตาเสือ (𝐴𝑝ℎ𝑎𝑛𝑎𝑚𝑖𝑥𝑖𝑠 𝑝𝑜𝑙𝑦𝑠𝑡𝑎𝑐ℎ𝑦𝑎) ทุเรียนป่า (𝐷𝑢𝑟𝑖𝑜 𝑚𝑎𝑛𝑠𝑜𝑛𝑖) จำปาป่า (𝑀𝑎𝑔𝑛𝑜𝑙𝑖𝑎 𝑐ℎ𝑎𝑚𝑝𝑎𝑝𝑎) เป็นต้น

ส่วนอาหารที่เป็นสัตว์ในจำพวกสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังก็มีหลากหลายอยู่ในป่า เช่น มดไม้ยักษ์ (𝐷𝑖𝑛𝑜𝑚𝑦𝑟𝑚𝑒𝑥 𝑔𝑖𝑔𝑎𝑠) แมลงสาบอเมริกา (𝑃𝑒𝑟𝑖𝑝𝑙𝑎𝑚𝑒𝑡𝑎 𝑎𝑚𝑒𝑟𝑖𝑐𝑎𝑛𝑎) จิ้งโกร่ง (𝐵𝑟𝑎𝑐ℎ𝑦𝑡𝑟𝑢𝑝𝑒𝑠 𝑝𝑜𝑟𝑡𝑒𝑛𝑡𝑜𝑠𝑢𝑠) และกลุ่มที่จำแนกชนิดไม่ได้ เช่น จั๊กจั่น ตั๊กแตนใบไม้ ด้วงหนวดยาว แมงมุม แมงป่อง กิ้งกือ ตะขาบ

นอกจากนี้ ยังมีสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง ที่เป็นอาหารของนกอยู่ด้วย เช่น งู แต่จำแนกชนิดไม่ได้ เพราะพ่อนกไม่ได้คาบมาเป็นตัว แต่คาบมาเป็นชิ้นๆ และมีสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกลุ่มปาด (𝑃𝑜𝑙𝑦𝑝𝑒𝑑𝑎𝑡𝑒𝑠 sp.) ส่วนที่จำแนกชนิดได้ก็มี ตุ๊กแกบินหางแผ่น (𝐺𝑒𝑘𝑘𝑜 𝑘𝑢ℎ𝑙𝑖) กิ้งก่าดงใหญ่ (𝐺𝑜𝑛𝑜𝑐𝑒𝑝ℎ𝑎𝑙𝑢𝑠 𝑔𝑟𝑎𝑛𝑑𝑖𝑠) หนูจี๊ด (𝑅𝑎𝑡𝑡𝑢𝑠 𝑒𝑥𝑢𝑙𝑎𝑛𝑠) กระรอกบินจิ๋วท้องขาว (𝑃𝑒𝑡𝑖𝑛𝑜𝑚𝑦𝑠 𝑠𝑒𝑡𝑜𝑠𝑢𝑠) ค้างคาวขุนช้าง (𝐶ℎ𝑒𝑖𝑟𝑜𝑚𝑒𝑙𝑒𝑠 𝑡𝑜𝑟𝑞𝑢𝑎𝑡𝑢𝑠)

ชนิดของอาหารที่ว่ามาเป็นเพียงบางส่วนของการป้อนอาหารของนกเงือกหัวแรดรังนี้ เพราะการเฝ้าและเก็บข้อมูลจะเก็บหนึ่งวันต่อสัปดาห์ ตั้งแต่นกเงือกหัวแรดตัวเมียเริ่มเข้ารังจนถึงลูกนกออกจากรัง เป้าหมายหลักคือการดูชนิดอาหารและดูความสำเร็จของนกในรังที่เป็นเป้าหมายในแต่ละปี

สำหรับนกเงือกหัวแรดกินอาหารได้ทั้งผลไม้และสัตว์ จึงจัดเป็นชนิดพันธุ์หลักที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ (Keystone species) บทบาทเด่นของนกเงือกป่า คือช่วยกระจายพรรณไม้ที่มีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากการเลือกกินที่กินแต่ผลไม้สุกและพาเมล็ดไปทิ้งในพื้นที่ต่าง ๆ จึงเป็นตัวช่วยปลูกป่าและปลูกแหล่งอาหารทั้งของนกเงือกและสัตว์ป่าอื่น ๆ คงไว้ซึ่งความหลากหลายของพืชและสัตว์ จึงจัดเป็นชนิดพันธุ์ที่เป็นร่มเงาให้กับสัตว์ชนิดอื่น (Umbrella species) ทำให้สังคมพืชเกิดความสมดุลและช่วยควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก จากความสัมพันธ์ของนกเงือกกับความอ่อนไหวต่อพื้นที่ป่าที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเหมาะที่จะจัดนกเงือกให้เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า (Indicator species) แต่ละแบบได้อีกด้วย

จากการมีอาหารที่หลากหลายและรังนกที่ได้ติดตามดูประสบความสำเร็จ มีลูกนกออกจากรังเกือบครบทุกรัง ก็บอกได้ว่าพื้นที่ป่ายังมีอาหารเพียงพอสำหรับสมาชิกที่เกิดใหม่ในป่าได้อยู่ต่อไป นี่อาจเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งที่ยังบอกได้ว่า บางส่วนของป่าฮาลา-บาลาก็ยังดีและเหมือนเดิมไม่ต่างจากปีก่อนๆ ที่ผ่านมา

ข้อมูลอ้างอิง
สถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ ป่าฮาลา-บาลา• Hala Bala Wildlife Research Station
ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


กำลังโหลดความคิดเห็น