โรงพยาบาลสนามใต้ร่มพระบารมี (โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน แห่งที่ 3) เปิดรองรับผู้ป่วยโควิด-19 แล้ว นับเป็นโรงพยาบาลสนามที่สำเร็จได้ด้วยเหล่าพลังจิตอาสาจากหลายภาคส่วน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 89 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รองรับผู้ป่วยสีเขียว 1,800 เตียง
โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ถูกดัดแปลงจากอาคารคลังสินค้า ท่าอากาศยานดอนเมือง บนพื้นที่ 13,000 ตารางเมตร ให้เป็นโรงพยาบาลสนามใต้ร่มพระบารมี (โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน แห่งที่ 3) พร้อมสร้างเตียงรองรับผู้ป่วยสีเขียวได้กว่า 1,800 ชุด ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนที่ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น จนเกิดปัญหาเตียงไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วย
อาคารเก่าแก่ที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของหลายหน่วยงานด้วยกัน ได้แก่ กองทัพอากาศ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กระทรวงคมนาคม โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ เจ้าหน้าที่จิตอาสาโรงพยาบาลสนาม รวมทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานจิตอาสา กฟผ. และได้ร่วมพิธีเปิดโรงพยาบาลสนามใต้ร่มพระบารมี (โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน แห่งที่ 3) เมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 89 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2564 ณ คลังสินค้าขาออกที่ 4 ท่าอากาศยานดอนเมือง กรุงเทพมหานคร
โรงพยาบาลสนามใต้ร่มพระบารมีฯ จะทำหน้าที่รับการส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 จากศูนย์ประสานงานโควิด-19 สายด่วน สปสช. 1330 สายด่วนกรมการแพทย์ 1668 สายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669 และศูนย์ประสานงานต้านภัยโควิดกองทัพบก โทร. 02-270-5685 ถึง 9 โดยได้จัดเตรียมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป และกุมารแพทย์ประจำทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะนี้ได้ทยอยรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง (สีเขียว) แล้ว และมีเตียงรองรับจำนวน 1,800 เตียง
พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ กล่าวว่า การจะปรับปรุงอาคารคลังสินค้าขนาดมากกว่า 13,000 ตารางเมตร ให้เป็นสถานที่พร้อมรับผู้ป่วยได้เป็นเรื่องยากในระยะเวลาเพียงแค่ไม่ถึงเดือน เพราะต้องรับผู้ป่วยจำนวนมาก และอาคารก็ถูกทิ้งร้างกว่า 20 ปี หลังคาเสื่อมสภาพตามอายุ มีน้ำรั่ว จึงเป็นปัญหาที่แก้ยาก รองลงมาคือการสร้างห้องสุขามากกว่า 300 ห้อง เพื่อให้เพียงพอกับผู้ป่วย แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะความร่วมมือร่วมใจของเหล่าจิตอาสา
ขณะดำเนินการก่อสร้าง ด้าน กฟผ. ได้ระดมทีมจิตอาสาจากหลายหน่วยงานและหลายวิชาชีพ อาทิ ช่างบำรุงรักษา ช่างเชื่อม วิศวกร จากโรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ฝ่ายบริหารและจัดการทรัพยากร สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิต สำนักงานไทรน้อย ฝ่ายจัดการและพัฒนาระบบสารสนเทศ ฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า ฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล ฯลฯ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ที่เกษียณอายุ เข้าช่วยงานในการวางระบบไฟฟ้าภายในโรงพยาบาลสนาม ขนสิ่งของ ประกอบเตียงสนาม จัดวางเตียง ฟูกนอน หมอนและสิ่งจำเป็นต่างๆ นอกจากนี้ ยังดำเนินการเชื่อมโครงห้องน้ำ ซ่อมแซมสถานที่ ซ่อมแซมหลังคาที่ชำรุดให้มีความพร้อมสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด-19