สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ร่วมกับเทศบาลนครนครสวรรค์ ปฎิบัติงานเชิงรุก จับค้างคาวแม่ไก่ในอุทยานสวรรค์ เพื่อเก็บตัวอย่างนำส่งไปตรวจหาเชื้อไวรัส และโรคพิษสุนัขบ้า ระบุเป็นนโยบายของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ “ธัญญา เนติธรรมกุล” เพื่อเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ ที่อาจลามจากค้างคาวสู่คน
รายงานข่าวจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ โดย นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 เปิดเผยว่า "อุทยานสวรรค์" หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "หนองสมบุญ" ในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีค้างคาวแม่ไก่ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง อาศัยอยู่ประมาณ 400 ตัว โดยอาศัยเกาะนอนบนต้นไม้บริเวณประตูทางเข้าที่ 11 และบริเวณเกาะกลาง ภายในอุทยานสวรรค์ และเนื่องจากอุทยานสวรรค์ เป็นพื้นที่สาธารณะที่มีประชาชนมาใช้ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ และทำกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก หากค้างคาวแม่ไก่มีเชื้อโรคแฝงอยู่ ผู้ที่มาใช้พื้นที่อุทยานสวรรค์ก็มีโอกาสได้รับเชื้อที่ปะปนมากับน้ำลาย ปัสสวะ หรือมูลของค้างคาวได้
ตามนโยบายของ "นายธัญญา เนติธรรมกุล" อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อเป็นการเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ จึงได้มอบหมายให้นางสาววีรยา โอชะกุล ผอ. ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ประสานงานกับเทศบาลนครนครสวรรค์ และขอสนับสนุนนักวิชาการและเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด มาร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ได้ลงพื้นที่ปฎิบัติการในระหว่างวันที่ 17-20 สิงหาคม 2564 โดยเริ่มด้วยการตั้งตาข่ายเพื่อดักจับค้างคาว โดยใช้เสาตาข่ายสูง 12 เมตร ผูกต่อกับนั่งร้าน 4 ชั้น 1 จุด และชักรอกตาข่ายกับยอดไม้ 1 จุด ตรงรอบๆ บริเวณต้นไม้ที่ค้างคาวเกาะนอน โดยเทศบาลนครนครสวรรค์ ได้ให้ความอนุเคราะห์รถกระเช้าไฟฟ้า รถบันไดเลื่อนไฟฟ้า และเจ้าหน้าที่ช่วยตัด ลิดกิ่งไม้ บริเวณที่จะตั้งตาข่ายออก
จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงทำการดักจับค้างคาวแม่ไก่ และเก็บตัวอย่างไว้ โดยเจ้าหน้าที่ทำงานใน 2 ช่วงเวลา คือ เวลา 04.00 - 9.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ค้างคาวบินกลับและเวลา 17.30 - 21.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ค้างคาวบินออกไปหากิน เมื่อจับค้างคาวได้แล้ว นายสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำการชั่งน้ำหนัก วัดขนาด เก็บตัวอย่างน้ำลาย ปัสสวะ มูล และเลือด พร้อมทำเครื่องหมายด้วยการทาเล็บ จากนั้นปล่อยค้างคาวให้เป็นอิสระเช่นเดิม
การดำเนินการในครั้งนี้ สามารถดักจับและเก็บตัวอย่างค้างคาวได้ทั้งสิ้น 12 ตัว จากนั้น สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) นำตัวอย่างที่เก็บได้ส่งไปตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา ไวรัสนิปาห์ และไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย และต้องรอผลตรวจจากห้องปฏิบัติการเพื่อนำมาหารือแนวทางปฎิบัติต่อไป