xs
xsm
sm
md
lg

โกลบอลคอมแพ็กฯ ผนึกพลังธุรกิจอาหารชั้นนำ ชู “5 อิ่ม” พลิกโฉมประเทศไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กฯ ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “บทบาทภาคเอกชนไทยในการส่งเสริมการพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืน” ผนึกพลัง 6 ธุรกิจอาหารชั้นนำของไทย ขับเคลื่อนระบบอาหาร (Food systems) ชู “5 อิ่ม” พลิกโฉมประเทศไทย “อิ่มถ้วนหน้า อิ่มดีมีสุข อิ่มรักษ์โลก อิ่มทั่วถึง และอิ่มทุกเมื่อ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแนวปฏิบัติของสหประชาชาติ เตรียมพร้อมนำเสนอในเวทีโลก UN Food System Summits กันยายนนี้

นายนพปฎล เดชอุดม เลขาธิการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในฐานะเครือข่ายท้องถิ่นของ UN Global Compact เปิดเผยว่า สหประชาชาติเล็งเห็นว่า ระบบอาหารจะเป็นกลไกลสำคัญที่จะเร่งเครื่องไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงได้เปิดระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อหารือแนวทางแก้ไขและยกระดับการพัฒนาระบบอาหารผ่านเวที UN Food Systems Summit 2021 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนกันยายนนี้ เพื่อเรียกร้องให้ประเทศผู้นำและรัฐมนตรีเกษตรและอาหารจากทั่วโลก เร่งหารือ และจัดทำนโยบาย แผนงานการปฏิรูประบบอาหารและการเกษตรอย่างมั่นคงและยั่งยืน

โดยให้ความสำคัญต่อการผลิตอาหารที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น สร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารรายสำคัญของโลก จะมีบทบาทอย่างยิ่งที่จะช่วยยกระดับความยั่งยืนของระบบอาหาร (Food Systems) ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายระดับโลก


ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทในการรวบรวมความคิดเห็นและข้อมูลต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอในเวทีโลก เห็นว่าภาคเอกชนมีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืนของไทยและของโลก ซึ่งมีการดำเนินงาน ประกอบด้วย 5 ด้าน (5 Action Tracks) หรือที่เรียกว่า “5 อิ่ม” ได้แก่ อิ่มถ้วนหน้าการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการอย่างถ่วนหน้า อิ่มดีมีสุข การปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภคเพื่อสุขภาพ อิ่มรักษ์โลกการส่งเสริมระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อิ่มทั่วถึง การส่งเสริมความเสมอภาคในการดำรงชีวิต และมีการเข้าถึงอาหารอย่างเท่าเทียมกัน และอิ่มทุกเมื่อการสร้างความยืดหยุ่น ปรับตัวได้ในทุกโอกาส โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติ

โดยกระทรวงเกษตรฯ จะรวบรวมข้อมูล ประสบการณ์ ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ จากภาคธุรกิจมาเชื่อมโยงกับข้อมูลที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการภายใต้นโยบาย 3S คือ ความปลอดภัยของอาหาร (Safety) ความมั่นคงทางอาหาร(Security) และความยั่งยืนของทรัพยากร (Sustainability) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์ความมั่นคงของอาหารของประเทศไทย โดยเห็นว่าการสร้างความยั่งยืนของระบบอาหาร จะต้องเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) และนำแนวคิดของ Zero Waste มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อคำนึงถึงความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเปิดเสรีทางการค้าในอนาคตที่อาจจะมีมากยิ่งขึ้น การใช้เทคโนโลยีที่มีความแม่นยำทางการเกษตรต่างๆ เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ต้องมีการทบทวนการเปลี่ยนแปลงการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร รวมทั้งอนาคตระบบสินค้าเกษตรและอาหาร

ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ซ้าย)นพปฎล เดชอุดม เลขาธิการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (ขวา)
ทั้งนี้ บทบาทภาคเอกชนไทยในการส่งเสริมการพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืน ภายใต้ 5 Action Tracksหรือ 5 อิ่มเพื่อพัฒนา ระบบอาหารไปสู่ความยั่งยืน ทั้งต่อสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของโลก ได้แก่ อิ่มถ้วนหน้า การเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการอย่างถ้วนหน้า โดย "บริษัท ไทยยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน)" มุ่งเน้นการส่งเสริมให้ผู้คนเข้าถึงอาหารทะเล ซึ่งเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ควบคู่ไปกับการดูแลความยั่งยืนของท้องทะเล การจ้างแรงงานในห่วงโซ่อุปทานอย่างถูกกฎหมาย ตามหลักสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนคำนึงถึงการจัดการขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน "บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน)" ได้นำความรู้เชิงวิชาการ สร้างนวัตกรรมการผลิตอาหารที่หลากหลาย และให้ความรู้แก่ผู้บริโภค เช่น การแสดงสัญลักษณ์บนอาหารสุขภาพ และเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มความหลากหลายของราคาและประเภทอาหารพร้อมรับประทานที่เน้นคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารที่ดีและปลอดภัยได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยมีนักวิชาการตรวจสอบตลอดกระบวนการ ตั้งแต่การสรรหาวัตถุดิบ การผลิต การเก็บในคลังสินค้าและ ขนส่งไปยังจุดจำหน่าย

อิ่มดีมีสุข การขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภคเพื่อสุขภาพ โดย "บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน)" ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอาหาร plant-based ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์ ภายใต้แคมเปญ One meal a week รณรงค์ให้ผู้บริโภคทดลอง รับประทานอาหาร plant-based หนึ่งมื้อหรือหนึ่งวันต่ออาทิตย์ เพื่อเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ร่างกายได้รับอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น และมีส่วนช่วยลดโลกร้อนได้มากขึ้นถึง 40% โดยระบุว่าโอกาสทางธุรกิจของประเทศไทยในเรื่องนี้ยังมีอีกมาก ทั้งตลาดในประเทศ และการส่งออกไปยังต่างประเทศ

อิ่มรักษ์โลก การส่งเสริมระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดย "บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด" ดำเนินการภายใต้แนวคิด From Waste to Value นำของเหลือใช้ในกระบวนการผลิตอ้อยไปสร้างคุณค่าเพิ่ม พัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นวัตถุดิบสำหรับธุรกิจอื่นๆ ต่อไป เช่น นำไปผลิตไฟฟ้าชีวมวล เอทานอล และปุ๋ย รวมทั้งยังเกิดเป็นคาร์บอนเครดิตที่สามารถนำมาชดเชยกับ carbon emission ได้อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การผลิตภาคเกษตรอย่างยั่งยืนที่ช่วยลดการเกิดภาวะโลกรวน (Climate Change) พร้อมทั้งสร้างความสมดุลของระบบนิเวศ สร้างความสุขให้กับชุมชน ชาวไร่ ในการดำเนินชีวิต และสร้างการเจริญเติบโตของธุรกิจไปพร้อมกัน

อิ่มทั่วถึง การส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนตลอดห่วงโซ่อุปทานโดย "บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน)" ที่มีนโยบาย การจัดหาวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน เริ่มตั้งแต่การให้ความรู้ Smart Farming กับเกษตรกรผ่านโครงการ “Thai Wah Farmer Network” สนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้กลับไปพัฒนาบ้านเกิด รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือช่วยให้เกษตรกรได้เข้าถึงความรู้และเทคโนโลยีการเกษตรอย่างถูกต้อง ช่วยให้มีผลผลิตที่สูงขึ้น ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยตลอดกระบวนการ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่อร่อยและดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค และการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพจากแป้งมันสำปะหลัง เพื่อบรรเทาปัญหาขยะพลาสติก

อิ่มทุกเมื่อ การสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้ระบบอาหาร โดย "บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน)" ซึ่งมีการดำเนินงานใน 3 ด้าน คือ 1) การสร้างความมั่นคงทางอาหาร การสร้างแหล่งอาหารและองค์ความรู้เพื่อให้ชุมชนสามารถผลิตอาหารได้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤติ 2) การส่งเสริมสังคมพึ่งตน เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงในห่วงโซ่อุปทาน การดูแลรักษาภาวะความเสี่ยงของคู่ค้า รวมถึงเกษตรกรรายย่อยที่มีความจำเป็นต้องได้รับความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ดีเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และ3) การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ตามแนวคิด"ดินน้ำป่าคงอยู่" ที่ได้ร่วมรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นต้นทางของแหล่งอาหาร ทั้งที่เป็นระบบนิเวศบนบก และระบบนิเวศทางทะเล

ทั้งนี้ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย
(Global Compact Network Thailand: GCNT) ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม
2561 โดยสมาชิกผู้ก่อตั้งในไทย 15 บริษัท ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 70 บริษัท โดยGCNT
ถือเป็นหนึ่งในเครือข่ายท้องถิ่น (Local
Network) ของโครงการสำคัญในระดับโลกขององค์การสหประชาชาติ
UN Global Compact เครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ซึ่งรณรงค์ให้บริษัททั่วโลกวางกลยุทธ์และยึดหลักการทำงานที่สร้างเศรษฐกิจยั่งยืนครอบคลุมการดำเนินงานใน
4 ด้าน ได้แก่ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม การต่อต้านทุจริต
ตลอดจนดำเนินกิจกรรมที่ช่วยผลักดันเป้าหมายของสังคมในวงกว้าง ภายใต้หลักสากล 10
ประการของUN Global Compact เพื่อบรรลุเป้าหมายของสหประชาชาติ