xs
xsm
sm
md
lg

107 องค์กร ออกแถลงการณ์ "คัดค้านการผ่อนปรนการนำเข้าขยะพลาสติก” โดยเด็ดขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากกรณีที่ คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ ได้กลับมติที่เคยห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศภายในปี 2563 โดยหันไปยินยอมตามแรงกดดันของกลุ่มธุรกิจนำเข้าเศษพลาสติกและอุตสาหกรรมรีไซเคิล ให้ขยายการนำเข้าเศษพลาสติกไปถึงปี 2569

อีกทั้งยังเปิดช่องว่าง โดยผ่านกฎหมายศุลกากรที่เอื้อให้นานาชาติส่งเศษพลาสติกเข้ามารีไซเคิลเพื่อ ในทุกพื้นที่ของประเทศไทยที่ได้ประกาศเป็น “เขตปลอดอากร” ได้อย่างเสรีตลอดไปนั้น

วันนี้ (5 สิงหาคม 2564) มูลนิธิบูรณนิเวศ ได้จัดเสวนาออนไลน์ นำโดย เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ พร้อมออกแถลงการณ์ในนามองค์กรภาคประชาชน จำนวน 107 องค์กร ทวงถามถึงมติให้ยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกอย่างเด็ดขาดไปแล้ว แต่กลับทำไม่ได้อย่างที่บอก ซึ่งทางเครือข่ายภาคประชาสังคม ยังพบว่า ขณะที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) อ้างว่าไม่ได้ให้ใบอนุญาตนำเข้าเศษพลาสติกแล้ว แต่กลับพบการนำเข้าเศษพลาสติกอย่างต่อเนื่อง อีกประมาณ 1 แสนตันเศษต่อปี โดยเป็นการนำเข้าของโรงงานที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากรและเขตประกอบการเสรี (Free zone)ซึ่งมีกฎหมายควบคุมแยกต่างหาก

ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงช่องว่างที่ใหญ่โตทางกฎหมาย และเป็นช่องว่างที่สนองตอบความพยายามของกลุ่มโรงงานที่เรียกร้องขอให้อนุญาตการนำเข้าเศษพลาสติกได้อย่างต่อเนื่อง




ทั้งนี้ พีรดา ปฏิทัศน์ ประธานบริหาร วิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิวัติขยะสุพรรณบุรี เป็นผู้อ่านคำแถลงการณ์ที่มี 7 ข้อเสนอถึงรัฐบาล ซึ่งจะนำไปยื่นอย่างเป็นทางการต่อไป

1.ยกเลิกมติ 25 ม.ค.64 และรีบจัดเวทีผู้ซื้อผู้ขายในประเทศ ขอให้ทบทวนและยกเลิกมติ “มาตรการกำกับการนำเข้าพลาสติก เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564” ประกาศนโยบายที่จะห้ามนำเข้าเศษพลาสติกภายในสิ้นปี 2564 โดยเร็ว พร้อมกันนี้ขอให้กรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดเวทีการพบกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเศษพลาสติก

2.แก้ไขกฎหมายในเขตประกอบการเสรี ให้มีการแก้ไขกฎหมายในเขตประกอบการเสรีและกฎหมายเขตปลอดอากรโดยห้ามการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ แต่ให้มีการใช้เศษพลาสติกในประเทศแทน

3.ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ โดยให้กรมการค้าต่างประเทศออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกภายในปี 2565

4.ต้องเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้า โดยให้กรมศุลกากรต้องทำพิกัดย่อยของพิกัด 39.15 สำหรับใช้กำกับการตรวจสอบการนำเข้าเศษพลาสติกและพลาสติกอื่นๆ เพื่อป้องกันการสำแดงเท็จ และเพิ่มบทลงโทษผู้นำเข้าและผู้แทน (ชิปปิ้ง) ที่สำแดงเท็จ และเมื่อพ้นช่วงผ่อนผันแล้วต้องห้ามนำเข้าเศษพลาสติกพิกัดศุลกากร39.15 ทั้งหมด

5.นำเข้าเฉพาะ “เม็ดพลาสติก” สำเร็จรูป ในระหว่างที่ยังเปิดให้นำเข้าเศษพลาสติกได้ ให้นำเข้าได้เฉพาะที่เป็น “เม็ดพลาสติก” สำเร็จรูป พร้อมนำไปผลิตเป็นชิ้นงานเท่านั้น

6.ห้ามให้ไทยเป็นฐานการแปรรูปเศษวัสดุ กระทรวงการคลังต้องไม่มีนโยบายรับการลงทุนอุตสาหกรรมรีไซเคิลจากต่างประเทศที่ใช้ไทยเป็นการแปรรูปเศษวัสดุจากต่างประเทศแล้วส่งออก

7.ให้ประชาชนร่วมทำงานและตรวจสอบ ขอให้คณะอนุกรรมการฯ เพิ่มผู้แทนสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าและองค์กรภาคประชาสังคมเข้าร่วมเป็นกรรมการหรือคณะทำงานด้วย เพื่อสร้างความสมดุลของนโยบาย รวมทั้งให้ผู้แทนภาคประชาสังคมร่วมในการติดตามตรวจสอบการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรมด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น