xs
xsm
sm
md
lg

คลื่นความร้อนซัด! แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ ละลายวันเดียวเทียบเท่า “ระดับน้ำสูง 2 นิ้วทั้งรัฐฟลอริดา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


น้ำแข็งละลายทางฝั่งตะวันตกของกรีนแลนด์ในปี 2019 ซึ่งเป็นปีที่มีการสูญเสียน้ำแข็งมากเป็นประวัติการณ์ (เครดิตภาพ CNN)
แผ่นน้ำแข็งของกรีนแลนด์ประสบเหตุ “การหลอมเหลวครั้งใหญ่" ในช่วงคลื่นความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติมากกว่า 10 องศา เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

เว็บไซต์ Polar Portal นักวิจัยชาวเดนมาร์ก รายงานว่าตั้งแต่วันอังคารที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา แผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมอาณาเขตอาร์กติกอันกว้างใหญ่ได้ละลายประมาณ 8 พันล้านตันต่อวัน ซึ่งมากเป็นสองเท่าของอัตราเฉลี่ยปกติในช่วงฤดูร้อน

สถาบันอุตุนิยมวิทยาแห่งเดนมาร์กรายงานว่ามีอุณหภูมิมากกว่า 20 องศาเซลเซียส (68 องศาฟาเรนไฮต์) มากกว่าอุณหภูมิฤดูร้อนเฉลี่ยปกติในฤดูร้อนถึงสองเท่าในภาคเหนือของกรีนแลนด์ และที่สนามบิน Nerlerit Inaat ทางตะวันออกเฉียงเหนือของดินแดนบันทึก 23.4 องศาเซลเซียส (74.1 F) ในวันพฤหัสบดีที่ 29 ก.ค.ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มบันทึก

คลื่นความร้อนที่กระทบส่วนใหญ่ของกรีนแลนด์ในวันนั้น เว็บไซต์ Polar Portal รายงานว่า "เป็นเหตุการณ์การหลอมเหลวครั้งใหญ่" ปริมาณน้ำแข็งที่ละลายเพียงพอที่จะครอบคลุมทั้งรัฐฟลอริดาด้วยระดับน้ำสูง 2 นิ้ว (5 เซนติเมตร)โดยพื้นที่ที่เกิดการละลายในครั้งนี้มีขนาดใหญ่กว่าเมื่อสองปีก่อน

แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์เป็นมวลน้ำแข็งน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก


Credit Clip Reuters

ทั้งนี้ แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์เป็นมวลน้ำแข็งน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก โดยมีพื้นที่เกือบ 1.8 ล้านตารางกิโลเมตร (695,000 ตารางไมล์) รองจากทวีปแอนตาร์กติกาเท่านั้น

"การละลายของแผ่นน้ำแข็งที่นี่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2533 และพบว่าเร่งตัวขึ้นนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ซึ่งการสูญเสียมวลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้มากกว่าก่อนปี 2000 ประมาณสี่เท่า" นักวิจัยรายงานใน Polar Portal

กรีนแลนด์สูญเสียมวลพื้นผิวมากกว่า 8.5 พันล้านตันในวันอังคาร และ 18.4 พันล้านตันตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมาตามรายงานของสถาบันอุตุนิยมวิทยาเดนมาร์ก แม้ว่าการสูญเสียน้ำแข็งทั้งหมดในสัปดาห์นี้จะไม่รุนแรงเท่าเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันในปี 2019 ซึ่งเป็นปีแห่งการละลายเป็นประวัติการณ์

ผลการศึกษาของยุโรปฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุว่าระดับน้ำในมหาสมุทรจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 10 ถึง 18 เซนติเมตรภายในปี 2100 หรือเร็วกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ 60% ในอัตราที่แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์กำลังละลาย และหากว่าแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ ละลายจนหมดนั้นจะทำให้ระดับมหาสมุทรสูงขึ้น 6-7 เมตร

ทั้งนี้ กรีนแลนด์ เป็นเกาะใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอาร์กติก ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปยุโรป และทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐนิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์ ประเทศแคนาดา ซึ่งถือว่าเป็นดินแดนเหนือสุดของโลก และอยู่ในทวีปเมริกาเหนือ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,166,086 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันกรีนแลนด์อยู่ในฐานะเป็นดินแดนปกครองตนเองของประเทศเดนมาร์ก

ข้อมูลอ้างอิง https://www.voanews.com/science-health/heat-wave-causes-massive-melt-greenland-ice-sheet
https://edition.cnn.com/2021/07/29/us/greenland-ice-melting-climate-change/index.html


กำลังโหลดความคิดเห็น