xs
xsm
sm
md
lg

เตือนฟาร์มหมู!! จัดการมลพิษ เตรียมพร้อมปฏิบัติตาม “มาตรฐานน้ำทิ้ง” ฉบับใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมมลพิษ ติวเข้มเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ “มาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากการเลี้ยงสุกร” ฉบับใหม่ ระบุเริ่มบังคับใช้ ม.ค.2564 เพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและดูแลประชาชนที่เดือดร้อนจากน้ำเสียและกลิ่นเหม็น หลังตรวจพบฟาร์มหมูทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ก่อมลพิษสูง

จากประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ เรื่องกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทการเลี้ยงสุกร และเรื่องกำหนดให้การเลี้ยงสุกรเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือออกสู่สิ่งแวดล้อม ฉบับลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2548 ซึ่งทั้ง 2 ฉบับมีผลบังคับใช้เป็นเวลามากกว่า 10 ปี ทำให้อาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำจากการเกิดสาหร่ายสะพรั่ง (algae bloom) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ดังนั้น เพื่อให้มาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากการเลี้ยงสุกร และการกำหนดให้การเลี้ยงสุกรเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่มีการกำกับและบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จึงได้ปรับปรุงมาตรฐานดังกล่าวให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น


นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า มาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทการเลี้ยงสุกรที่ปรับปรุงฉบับใหม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังจากนี้หนึ่งปี (เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2565 เป็นต้นไป) โดยมีประเด็นที่ปรับปรุง ประกอบด้วย

1) การปรับปรุงคำนิยาม “น้ำทิ้ง” (ใหม่) หมายถึง น้ำเสียที่เกิดจากกิจกรรมหลักจากการเลี้ยงสุกรที่ผ่านการบำบัดจนเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

2) การปรับปรุงค่าบีโอดี (ใหม่) ประเภท ก ไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/ลิตร (มก./ล.) ประเภท ข และ ค ไม่เกิน 80 มก./ล. และค่าซีโอดี ประเภท ก ไม่เกิน 250 มก./ล. ประเภท ข และ ค ไม่เกิน 350 มก./ล.

3) การเพิ่มค่าฟอสฟอรัสรวม ไม่เกิน 5 มก./ล. ซึ่งการเพิ่มค่าฟอสฟอรัสรวมในค่ามาตรฐานฯ ดังกล่าว เพื่อเป็นการลดการเกิดปัญหาน้ำเขียวหรือการเกิดสาหร่ายสะพรั่งในแหล่งน้ำ เนื่องจากน้ำทิ้งและน้ำเสียจากการเลี้ยงสุกรเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนทำให้เกิดปัญหาน้ำเขียวในแหล่งน้ำ

4) การปรับปรุงวิธีการเก็บตัวอย่าง จากสารแขวนลอยเปลี่ยนเป็นของแข็งแขวนลอยทั้งหมด และความสกปรกในรูปทีเคเอ็นเปลี่ยนเป็นทีเคเอ็น

และ 5) วิธีการตรวจสอบค่าความเป็นกรดและด่าง และวิธีการตรวจสอบค่าฟอสฟอรัสรวม

ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามประกาศดังกล่าว กรมฯ ได้จัดอบรมเกี่ยวกับ “มาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทการเลี้ยงสุกร” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและเตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่ทั้งภายในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะผู้ควบคุมดูแลจัดการมลพิษจากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทการเลี้ยงสุกร และเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ในฐานะผู้กำกับดูแลส่งเสริมการประกอบกิจการเลี้ยงสุกร เพื่อได้นำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานให้ถูกต้องและเหมาะสมเป็นไปตามที่กฎหมาย และเป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชน ที่มีการร้องเรียนกรณีได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับน้ำเสียและกลิ่นเหม็นจากฟาร์มสุกรมาอย่างต่อเนื่อง

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมฯ ได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนจากประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องความเดือดร้อนและผลกระทบเป็นวงกว้างจากปัญหาน้ำเสียจากการเลี้ยงสุกรในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ส่งผลให้ลำคลอง ลำห้วยในพื้นที่รอยต่อลุ่มน้ำแม่กลอง เกิดการเน่าเสีย คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม และประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ในปี 2564 จึงมีการกำหนดแผนตรวจสอบ และบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทการเลี้ยงสุกรในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เพื่อควบคุมการระบายน้ำทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อมหรือลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะให้เป็นไปตามกฎหมายว่าสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พื้นที่เป้าหมายครอบคลุมพื้นที่ี่แม่น้ำแม่กลองและคลองประดู่ไหลผ่านจำนวน 5 อำเภอ ได้แก่ ปากท่อ บ้านโป่ง โพธาราม อ.เมืองราชบุรี และดำเนินสะดวก

ในช่วงต.ค.63 -มี.ค.64 กรมฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย และคุณภาพน้ำทิ้ง จากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทการเลี้ยงสุกรในพื้นที่จ.ราชบุรี 100 แห่ง แบ่งเป็นเข้าข่ายเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษการเลี้ยงสุกรประเภท ก (มากกว่า 5,000 ตัว) จำนวน 28 แห่ง ผลการตรวจสอบน้ำทิ้งไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 20 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 71 ประเภท ข (เทียบเท่าสุกรขุน 500-5,000 ตัว) จำนวน 47 แห่ง ผลการตรวจสอบน้ำทิ้งไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 21 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 46 ส่วนประเภท ค (เทียบเท่าสุกรขุนมากกว่า 50-500 ตัว) จำนวน 25 แห่ง ผลการตรวจสอบน้ำทิ้งไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 8 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 33

จากการตรวจสอบ พบว่าฟาร์มสุกรประเภท ก ซึ่งเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ยังบำบัดน้ำเสียไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีน้ำเสียเกิดขึ้นปริมาณมากและมีศักยภาพในการก่อมลพิษสูง ในส่วนของฟาร์มขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อยที่มีจำนวนมาก ก็มีสัดส่วนการก่อมลพิษสูงเช่นกัน ทั้งนี้ ฟาร์มที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กรมฯ ได้ดำเนินกระบวนการทางกฎหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะบำบัดน้ำเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ และจะเข้าตรวจสอบฟาร์มต่างๆ ให้ครอบคลุมภายในปีนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น