xs
xsm
sm
md
lg

แม่โจ้โพลล์ เผยคนไทยหวั่นโรคระบาดในปศุสัตว์! แต่เลือกปรับตัวกินเนื้อที่ปรุงสุกเป็นอันดับแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,705 ราย ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 13 กรกฏาคม 2564 ในหัวข้อ "ผู้บริโภคกับความเชื่อมั่นในการบริโภคเนื้อสัตว์ของประเทศไทย" 

ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจและความเชื่อมั่นในการบริโภคเนื้อสัตว์ของประเทศไทยในปัจจุบัน

จากการสอบถามการทราบถึงการระบาดของโรคปศุสัตว์ (โค กระบือ และหมู) ในประเทศไทย พบว่า ประชาชนร้อยละ 84.93 ทราบข่าวการระบาด มีเพียงร้อยละ 15.07 เท่านั้นที่ไม่ทราบข่าวการระบาดดังกล่าว และเมื่อสอบถามความคิดเห็นถึงผลกระทบของการระบาดของโรคในปศุสัตว์ของประเทศไทยที่มีต่อราคาเนื้อปศุสัตว์ในประเทศไทย พบว่า ร้อยละ 83.93 เห็นว่าส่งผลกระทบ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 54.51 เห็นว่าราคาเนื้อปศุสัตว์ปรับราคาสูงขึ้น และร้อยละ 45.49 เห็นว่าราคาเนื้อปศุสัตว์มีราคาที่ถูกลง

การสอบถามพฤติกรรมในการบริโภคเนื้อสัตว์ในช่วงการเกิดโรคระบาดปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 81.28 เห็นว่า สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภค โดย อันดับ 1 เลือกบริโภคเนื้อปศุสัตว์ที่ปรุงสุกเท่านั้น (ร้อยละ 67.47) รองลงมา เลือกแหล่งจำหน่ายที่สะอาด ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ (ร้อยละ 61.74) และอันดับ 3 เลือกบริโภคอาหารที่ทำสดใหม่เท่านั้น (ร้อยละ 51.20) มีเพียงร้อยละ 18.72 เท่านั้นที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เมื่อสอบถามถึงผลกระทบที่มีต่อการส่งออกปศุสัตว์ของประเทศไทยภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคในปศุสัตว์ของประเทศไทย พบว่า ร้อยละ 77.07 เห็นว่าจะกระทบการส่งออกปศุสัตว์ของประเทศไทย และร้อยละ 22.93 เห็นว่ายังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทย 

และเมื่อสอบถามความเชื่อมั่นต่อการแก้ไขปัญหาโรคระบาดดังกล่าวของภาครัฐ พบว่า ร้อยละ 46.79 เชื่อมั่นต่อการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ รองลงมาร้อยละ 36.70 ยังไม่แน่ใจต่อการแก้ไขปัญหาและร้อยละ 16.51 ไม่เชื่อมั่นต่อการแก้ไขปัญหาโรคระบาดในครั้งนี้


จากการระบาดของโรคในปศุสัตว์ของประเทศไทยนั้น เป็นการระบาดที่สามารถสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งได้ในแต่ละปี โดยจากการสอบถามประชาชนพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีการรับรู้และรับทราบการระบาดเป็นอย่างดี และในด้านความเชื่อมั่นต่อภาครัฐเองประชาชนมีความเชื่อมั่นในมาตรการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ 

แต่อย่างไรก็ตามก็ควรมีการติดตามข่าวสาร สถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด และมีแนวทางในการป้องกันและรับมือกับปัญหาดังกล่าว เช่น รับประทานอาหารที่ปรุงสุกเท่านั้น การเลือกซื้อและบริโภคเนื้อปศุสัตว์จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยในปัจจบันภาครัฐก็ได้มีการแก้ไขปัญหาโดยการฉีดวัคซีนและจำกัดพื้นที่การแพร่ระบาด เพื่อไม่ให้การระบาดแพร่ไปในวงกว้าง หากทุกคนและทุกภาคส่วนร่วมมือกันจะสามารถทำให้ปัญหาการแพร่ระบาดดังกล่าวหมดไปจากประเทศไทยอย่างแน่นอน