นับเป็นผลลัพธ์จากระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART PATROL) และการจัดการพื้นที่อย่างมีแบบแผนมาใช้ในการปฏิบัติงาน บริเวณโป่งช้างเผือก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่มีการจัดพื้นที่่ แหล่งน้ำและเสริมดินโป่ง จึงมีสัตว์ป่าตีนกีบหลายชนิดออกมาใช้บริการ ล่าสุดฝูงกวางก็มา
นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) เล่าให้ฟังว่า หลังเสร็จภารกิจในพื้นที่ ได้แบกกล้องตัวเล็กๆ แวะไปที่โป่งช้างเผือก ขึ้นบนชั้น 2 ของหอนกยูง เพื่อถ่ายรูปสัตว์ป่าที่กำลังมาใช้พื้นที่โป่ง
เมื่อเดินทางถึง ภาพข้างหน้า มีแต่นกยูง ประมาณ 15 ตัว กำลังกระจายกันหากิน อยู่ในระยะห่างจากหอนกยูง ราว 300-600 เมตร กล้องที่มีเล็กเกินไปที่จะซูมภาพชัดๆ มาถ่ายทอดให้ได้ชมกันครับ แต่รออยู่ซักพักเริ่มมีกวางป่าวัยเด็ก 2 ตัว เดินออกมาจากป่า ตามด้วยกวางตัวน้อย เดินตามออกมาจากป่าด้วย จากที่ผมสังเกตุพบว่ากวางตัวน้อยตัวนี้ มีความชำนาญพื้นที่มาก เขาเดินเดี่ยวตรงมาที่โป่ง ใกล้ๆ กับหอ นกยูง พอมาถึงก็กินน้ำ กินดิน เพิ่มธาตุอาหารให้กับตัวเอง จนสักพักกวางป่า รุ่นพี่ หรือรุ่นแม่ แยกไม่ออก เดินออกจากป่าตามมาอีก 2 ตัว รวมเป็น 5 ตัว
กวางป่า ทั้ง 5 ใช้โป่งนี้อยู่ราว 40 นาที จนสังเกตุเห็นว่ากวางป่าตัวใหญ่สุดชูคอชะเง้อตาดูเข้าไปในป่า สักพักก็วิ่งเข้าป่าไป ตัวอื่นทยอยตาม กวางป่าตัวน้อย เป็นตัวสุดท้ายที่เดินออกจากโป่ง วันนี้จึงขอนำภาพส่งความสุขและความเพลิดเพลิน เล็กๆ ให้แทรกขึ้นกลางใจของคนไทยทุกคนอีกครั้งในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดในขณะนี้
สำหรับโป่งช้างเผือกนั้นเป็นโป่งที่มีต้นไม้ใหญ่ที่เป็นอาหารสัตว์ป่าได้ เช่น มะเดื่อ กระจายอยู่รอบๆ ซึ่งขณะนี้กำลังสุกและร่วงหล่นอยู่ตามพื้น มีทุ่งหญ้าที่สมบูรณ์ และ มีลำห้วยทับเสลา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไหลผ่านโป่ง และพื้นที่โป่งส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการอาศัยและหากินของสัตว์กีบ เป็นอย่างยิ่ง
ทั้งหมดนี้สืบเนื่องมาจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART PATROL) และการจัดการพื้นที่อย่างมีแบบแผนมาใช้ในการปฏิบัติงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งช่วยป้องกันและปราบปรามการลักลอบล่าสัตว์ป่าและลดการบุกรุกทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าที่ได้ผลดียิ่ง ส่งผลทำให้จำนวนของสัตว์ป่าหลายชนิดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช