รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพศ.๒๕๖๐ มาตรา ๓๕ บัญญัติว่า "บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ"
ในขณะที่จริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนได้กำหนดหลักการในการเสนอข่าวไว้ว่า “การเสนอข่าวต้องยึดถือข้อเท็จจริง ความถูกต้อง แม่นยำและความครบถ้วน" นั่นหมายความว่าถ้าข่าวสาร หรือความคิดเห็นที่แสดงออกไปเป็นข่าวที่ถูกต้อง แม่นยำและครบถ้วนแล้วย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
แต่การที่ ศบค. หรือศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๕๑๙ ได้ออกข้อกำหนดตามความในมาตรา ๙ แห่งพรก.กำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพศ.๒๕๔๘ ที่ว่า "การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลาย ซึ่งหนังสือพิมพ์ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร"
ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทั่วราชอาณาจักรเป็นความผิดตามมาตรา ๙(๓) แห่งพรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพศ.๒๕๔๘" นั้นน่าจะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งไม่ได้ห้ามเสนอความจริงและที่เขียนนี้ก็ไม่ได้ปกป้องพวกที่ออกข่าวลวงข่าวปลอมที่ฝรั่งเรียกว่า Fake news แต่เห็นว่าเป็นการกระทำกับสื่อมวลชนแบบ "มัดมือชก" ทั้งนี้เพราะว่าแม้สื่อมวลชนจะเสนอข่าวจริงแต่ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐเห็นว่าเป็นข้อความที่ "อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว" หรือ "ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน" ก็เป็นความผิดแล้ว
การออกข้อกำหนดโดยให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวางไม่มีขอบเขตเช่นนี้น่าจะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญและขัดประมวลกฏหมายอาญามาตรา๓๓๐ที่บัญญัตินิรโทษกรรมผู้สุจริตเป็นหลักการว่า"ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อหาที่ว่าเป็นการหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ"
ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ คือ
๑.ขัดรัฐธรรมนูญและขัดหลักความเป็นธรรมตามประมวลกฏหมายอาญา
๒.การที่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวางไม่มีขอบเขตเช่นนี้น่าจะขัดหลักแห่งความเป็นธรรม และเป็นอันตรายเป็นการขัดขวางสิทธิในการรับรู้ของประชาชนที่จะได้รับรู้ในเรื่องที่เขาควรรู้แม้ในเรื่องที่เป็นความจริงเพราะการที่เจ้าหน้าที่จะลงความเห็นว่าข้อความใดอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวนั้นเป็นการให้อำนาจที่ไม่มีมาตรฐานไม่มีขอบเขต สุดแต่เจ้าหน้าที่คนใดกลุ่มไหนจะเป็นผู้พิจารณาด้วยความรู้สึก ด้วยความรู้ หรือด้วยพื้นฐานทางความคิดหรือความเชื่อที่แตกต่างกันและ
๓.โลกจะติฉินนินทาว่าบ้านนี้เมืองนี้พูดความจริงก็ไม่ได้เสียแล้ว
โทษสำหรับการเสนอเรื่องจริงแต่ถ้าเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการทำให้ประขาชนหวาดกลัว คือจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้วจึงขอเสนอว่าศบค.ควรปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดดังกล่าวเสียใหม่ เช่นอาจเพิ่มข้อความว่า "อันเป็นเท็จ" ลงไปตามที่เคยมีอยู่แต่เดิมและขอเรียกร้องให้จัดการกับพวกที่เสนอข่าวลวงข่าวปลอมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะพวกที่ทำกันเป็นกระบวนการจะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ ที่กระหน่ำซ้ำซากอยู่ทุกวี่ทุกวันในทุก Platform ของ social media ที่เรียกว่า Media weaponization จนประชาชนหวาดผวาและอยู่กันอย่างลำบากเต็มทีแล้วครับ.
บทความโดย มานิจ สุขสมจิตร
ภาคีสมาชิก ประเภทวิชาสังคมศาสตร์ สาขาวิชานิเทศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา เสนอต่อที่ประชุมราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง