กรมอุทยานฯ ร่วมกับทุกภาคส่วนคุมเข้มทุกพื้นที่ ป้องกัน "โรคลัมปี สกิน" ลามสู่สัตว์ป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จากกรณีพบการระบาดของโรคลัมปี สกิน ในสัตว์เลี้ยง
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า พันธุ์พืช ได้วางแนวทางและมาตรการการป้องกันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้การระบาดลุกลามสู่สัตว์ป่า จึงได้สั่งการทุกพื้นที่ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาด และบูรณาการกับหน่วยงานในจังหวัดและทุกภาคส่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว รวมถึงสร้างความเข้าใจกับราษฎร และติดตามสัตว์ป่าในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (เพชรบุรี) กรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ข้อมูล ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2564) มีสัตว์เลี้ยง ป่วยสะสม ทั้งหมด 3,257 ตัว สัตว์เลี้ยงหายป่วยสะสม 1,009 ตัว ตายสะสม 225 ตัว (ท้องที่อำเภอหัวหิน 38 ตัว , อำเภอปราณบุรี 43 ตัว, อำเภอสามร้อยยอด 67 ตัว, อำเภอกุยบุรี 58 ตัว ,อำเภอเมือง 7 ตัว, อำเภอทับสะแก 6 ตัว, อำเภอบางสะพาน 4 ตัว, อำเภอบางสะพานน้อย 2 ตัว
ทั้งนี้ ยังไม่มีสัตว์ป่วยและเสียชีวิตในพื้นที่ใกล้เคียงอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และจากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กร. 4 (หุบมะซาง) ร่วมกับปศุสัตว์อำเภอสามร้อยยอด,ผู้นำชุมชน เพื่อตรวจสอบการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ท้องที่อำเภอสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เบื้องต้นไม่พบสัตว์ป่วยเพิ่ม และสั่งการให้เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กร.1 (ป่ายาง) เฝ้าติดตามสังเกตุกระทิงฝูงซึ่งออกมาหากินบริเวณบ่อ 5 จำนวน 157 ตัว เบื้องต้นไม่พบอาการผิดปกติของการเดิน อาการของรอยโรคลัมปี สกิน แต่อย่างใด นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สายตรวจลาดตระเวนชุดที่ 1 และชุดที่ 2 สายตรวจหน่วยพิทักษ์ที่กร.1 (ป่ายาง) ลาดตระเวนตรวจสอบพื้นที่ต่อเนื่อง ซึ่งก็ไม่พบซากกระทิงเสียชีวิตเพิ่มเติมเช่นกัน
ด้านนายภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบโรคในสัตว์ป่าเมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่าไม่มีสัตว์ป่าแสดงอาการป่วยหรือตาเพิ่มเติมแต่อย่างใด และได้เข้าตรวจสอบพื้นที่บริเวณที่พบกระทิงเสียชีวิต เพื่อดักจับแมลงนำไปตรวจหาโรคในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และรอยต่อ รวมทั้งลงพื้นที่สำรวจสุขภาพของโคกระบือและสัตว์ปศุสัตว์อื่นๆรอบพื้นที่ป่า และแนะนำการจัดการรวมทั้งเน้นย้ำกับราษฎรห้ามนำสัตว์ปศุสัตว์เข้าเลี้ยงในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างเด็ดขาด ก่อนร่วมกันวางแผนกับปศุสัตว์จังหวัดในการฉีดวัคซีนสัตว์เลี้ยงรอบพื้นที่ซึ่งจะร่วมกันดำเนินการภายในอาทิตย์หน้าพร้อมกับสำรวจแบบสอบถามเพื่อใช้ในการประเมินอาการ ความรุนแรงและสาเหตุจุดเริ่มต้นในการระบาดของโรคลิมปีสกินในพื้นที่อีกด้วย
ในส่วนของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) นายสิทธิชัย เสรีส่งแสง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 ได้ประชุมร่วมกับนายมณฑล ตันติศักดิ์ชัยชาญ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าเขาภูหลวง ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา ในการเฝ้าระวังการระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin) จากปศุสัตว์สู่สัตว์ป่า ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า จังหวัดนครราชสีมา ก่อนลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับเกษตรกรและขอความร่วมมือเพื่อหยุดยั้งโรคฯ โดยได้ฉีดพ่นยาเพื่อไล่แมลงอันเป็นพาหะนำโรคและฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin) แก่ปศุสัตว์ของเกษตรกรที่อาศัยอยู่โดยรอบเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า ซึ่งในพื้นที่ยังไม่พบการระบาดและได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเช่นกัน
ด้านนางสาวกิรณา นรเดชานนท์ นายสัตวเเพทย์ ชำนาญการ ประจำกลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่าสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา สัตวแพทย์และคณะทำงานกลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า หัวหน้าสถานีฯ และสัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า สัตวแพทย์สัตวบาลประจำส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.12 (นครสวรรค์) หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และหัวหน้าเขตพื้นที่เตรียมการกำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ ได้มีการประชุมเพื่อหารือกรณีพบภาพถ่ายวัวแดงสงสัยโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี โดยการดำเนินการที่ผ่านมาของเขตฯ ได้มีการประสานกับกับผู้ว่าราชการจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด และผู้นำชุมชน ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีการทำวัคซีนในสัตว์ปศุสัตว์ในพื้นที่ที่มีการระบาดรอบพื้นที่แล้ว
อีกทั้งยังได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ช่วยสังเกตอาการ/รอยโรคในสัตว์ป่ากลุ่มสัตว์กีบ ที่เป็นจุดสังเกตเห็นได้ชัด ได้แก่ รอยแผลบริเวณผิวหนัง การเดินที่ผิดปกติ กรณีพบซากสัตว์ป่ากลุ่มสัตว์กีบที่มีรอยโรค ให้ประสานแจ้งสัตวแพทย์ เก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทันที นอกจากนี้ยังได้จัดทำบ่อน้ำยาฆ่าเชื้อยานพาหนะบริเวณหน้าทางเข้าเขตฯ และใช้น้ำส้มควันไม้พ่นเพื่อไล่แมลง สำหรับการควบคุมแมลงพาหะในพื้นที่เขตฯ ให้ใช้น้ำส้มควันไม้เท่านั้นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม/สัตว์ป่าอื่นๆ
และเนื่องจากในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีฝูงควายป่าที่ต้องให้ความสำคัญและเฝ้าระวังโรคเป็นพิเศษ และอยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้งผาง จังหวัดตาก ซึ่งควรมีการเฝ้าระวังโรค สร้างแนวกันชน และประสานหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ในพื้นที่ให้มีการฉีดวัคซีน กำจัดแมลงพาหะ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคลัมปี สกิน อย่างเข้มงวดต่อไป