ทุกองค์กรต่างต้องเผชิญกับความท้าทายและโอกาสที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และต้องวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อรับมือ ซึ่งความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการตัดสินใจด้านยุทธศาสตร์เหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่องบการเงินและดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ขององค์กรได้
ในปีที่ผ่านๆ มา หลายประเทศได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในจำนวนองค์กรที่มีการรายงานเรื่องของความยั่งยืน ซึ่งนอกจากเป็นสาเหตุมาจากกฎข้อบังคับใหม่ๆ แล้ว ยังเป็นเพราะความเข้าใจที่มากขึ้นในแง่ผลกระทบของสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance – ESG) ที่ส่งผลต่อผลประกอบการทางการเงินและคุณค่าขององค์กร การรายงานเรื่องของความยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญและองค์กรที่ยังไม่ได้รายงานในเรื่องดังกล่าวอาจจะไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
จากรายงาน KPMG Survey of Sustainability Reporting 2020 พบว่า ร้อยละ 80 ขององค์กรที่ทำการสำรวจ มีการรายงานด้านความยั่งยืน ซึ่งในกลุ่มองค์กรที่ใหญ่ที่สุด 250 องค์กรของโลก มีตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 96 ส่วนการที่องค์กรไม่มีนโยบายการรายงานด้านความยั่งยืนจะเป็นจุดอ่อนและก่อให้เกิดความเสี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม แต่ละองค์กรควรตระหนักว่า ยุทธศาศาสตร์และการรายงานด้านความยั่งยืนไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้โดยขาดการวางแผนและการไตร่ตรองที่ดีอย่างเป็นระบบ
ถึงแม้ว่าปัจจุบันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่องบการเงินอาจจะยังไม่มากนัก แต่ความเสี่ยงสามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีการออกกฎข้อบังคับ การเปลี่ยนนโยบาย หรือการผันแปรของภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การตัดสินใจขององค์กรในด้านนี้สามารถส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์และหนี้สินขององค์กร หรือแม้กระทั้งอาจส่งผลให้องค์กรต้องหาแหล่งเงินทุน หรืออัดฉีดเงินทุนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ต่างๆ
สิ่งสำคัญที่แต่ละองค์กรต้องคำนึงถึงเมื่อระบุผลกระทบต่องบการเงินจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือควรรวมถึง คำมั่นสัญญาที่จะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net zero) ทรัพย์สินที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม (Polluting assets) ผลกระทบที่อาจเกิดจากการบังคับใช้ระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอน การมีลูกค้าหรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยคาร์บอน การซื้อคาร์บอนเครดิต และเครื่องมือทางการเงินที่ใช้มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้องค์กรสามารถเปิดเผยข้อมูลทางการเงินในด้านนี้ เคพีเอ็มจีได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับการรายงานงบการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ใน Climate change financial reporting resource center ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยให้องค์กรประเมินถึงปัจจัยที่อาจส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความเสี่ยงทางสภาพภูมิอากาศ และรายงานในงบการเงินได้อย่างแม่นยำและถูกต้อง
โดย - เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพีเอ็มจีประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว และณัฐพงศ์ ตันติจัตตานนท์ กรรมการบริหาร ความยั่งยืน เคพีเอ็มจีประเทศไทย