วิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและกว้างขวางในหลากหลายอุตสาหกรรม หลายคนมองว่านี่เป็นโอกาสสำหรับการรีเซ็ตครั้งใหญ่ ทั้งการตระหนักด้านความยั่งยืนที่เพิ่มสูงขึ้น การเลือกซื้อของผู้บริโภคที่พิจารณารอบด้านมากยิ่งขึ้น ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาด ส่งผลให้ประเทศไทยอันเป็นดั่งขุมกำลังหลักด้านยานยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้จังหวะเวลาในการปฏิวัติตนเองสู่การเติบโตในอนาคต
๐ ขับเคลื่อนสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ด้วยยานยนต์ไฟฟ้า
แม้ว่ายอดขายยานยนต์ทั่วโลกจะลดลงจากผลกระทบของวิกฤตการณ์การระบาด แต่ยอดขายของยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV - Battery Electric Vehicle) และยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV - Plug-in Hybrid Electric Vehicles) กลับเติบโตอย่างเห็นได้ชัดตลอดช่วงสามปีที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่ต้องการรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่ารถยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE - Internal Combustion Engine)
และถึงแม้ว่า การแพร่ระบาดของโควิดจะส่งผลต่อซัพพลายเซนหรือห่วงโซ่อุปทาน ประกอบกับการขาดแคลนชิป (Semiconductor) ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ แต่นักวิเคราะห์ยังคงคาดการณ์ว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตโดยเฉลี่ยกว่า 20% ทุกปีไปจนถึงปี 2570 เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์จำเป็นต้องก้าวให้ทันเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของภาคธุรกิจและรัฐบาล ตลอดจนตอบสนองต่อความชื่นชอบที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค
สำหรับตลาดรถยนต์ในประเทศไทยเองก็มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าประเภทปลั๊กอินไฮบริด) เติบโตขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 34% ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าผลกระทบจากวิกฤตการณ์การระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ส่งผลให้การซื้อรถยนต์คันใหม่ของไทยลดลง 21% (นับรวมรถยนต์เครื่องสันดาปภายในและรถยนต์ไฟฟ้า) แต่ยังคงสังเกตได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าสามารถชิงส่วนแบ่งการตลาดจากรถยนต์เครื่องสันดาปภายในมาได้เป็นจำนวนมาก คิดเป็นการเติบโตถึง 13%1
ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้านี้เกิดจากหลายปัจจัย นอกจากเป้าหมายในการลดการปล่อยมลพิษสู่อากาศที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ระยะการเดินทางสูงสุดที่เพิ่มขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้า (Range) รวมไปถึงระดับราคาที่เข้าถึงได้ง่าย ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานด้านการชาร์จต่างๆ ที่ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งหมดช่วยเพิ่มเสน่ห์และความน่าสนใจให้กับรถยนต์ไฟฟ้าในหมู่ผู้บริโภค
ทั้งนี้ แผนงานล่าสุดเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าที่รัฐบาลไทยประกาศนั้นมีการตั้งเป้าส่งรถยนต์ไฟฟ้าลงสู่ถนนเมืองไทย 1.05 ล้านคันภายในปี 2568 และรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยทั้งหมดจะเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าภายในปี 2578 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศให้ตื่นตัว ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ไปจนถึงผู้นำเข้าและส่งออก
๐ จัดระบบห่วงโซ่อุปทานใหม่ให้อุตสาหกรรมยานยนต์
ประเทศไทยกำลังเฟ้นหาสิ่งที่จะช่วยเร่งขีดความสามารถของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมยานยนต์ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการผลิตเพื่อรองรับยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดที่ช่วยขับเคลื่อนความสำเร็จของประเทศอาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบธุรกิจขนาดเล็ก ไปจนถึงผู้รับจ้างผลิตหรือโออีเอ็ม (Original Equipment Manufacturers – OEM) ที่เติมเต็มซัพพลายเชนให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์
ในกระบวนการผลิตรถยนต์เครื่องสันดาปภายในจำนวนมากแบบดั้งเดิมนั้น ซัพพลายเออร์จะส่งชิ้นส่วนที่เสร็จสมบูรณ์ไปยังผู้ผลิตรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นตัวกรองอากาศไปจนถึงชุดเกียร์ โดยประเทศไทยได้เสริมสร้างศักยภาพด้านนี้อย่างแข็งแกร่งจนได้รับการยอมรับว่าเป็น “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย (Detroit of Asia)” แม้ในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการจัดหาชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดที่กลายเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมากในตลาด
เนื่องจากรถยนต์ไฮบริดสามารถใช้ชิ้นส่วนอะไหล่และส่วนประกอบเดียวกับรถยนต์เครื่องสันดาปภายใน ส่งผลให้รถยนต์ไฮบริดมีต้นทุนในการพัฒนาช่วงเริ่มต้นต่ำกว่าและได้ประโยชน์เต็มที่จากห่วงโซ่อุปทานเดิมของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีอยู่ในประเทศไทย อย่างไรก็ตามความนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปกำลังส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์พัฒนาต่อยอดจากรถยนต์ไฮบริดสู่รถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ โดยรถยนต์รูปแบบนี้ใช้จำนวนชิ้นส่วนเพียง 10-20% เมื่อเทียบกับรถยนต์เครื่องสันดาปภายใน ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานต่อระบบห่วงโซ่อุปทานเดิมที่ใช้รองรับการผลิตรถยนต์แบบเครื่องสันดาปภายใน นำไปสู่ข้อสงสัยที่ว่ารูปแบบการผลิตรถยนต์ในปัจจุบันของไทยจะยังอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่
แน่นอนว่าเหล่าบรรดาธุรกิจโออีเอ็มและธุรกิจขนาดเล็กที่เกี่ยวข้องกับวงการยานยนต์ในประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง หรืออาจต้องหยุดดำเนินกิจการไป แต่วิกฤตการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกเมื่อเร็วๆ นี้ได้เข้ามาชะลอการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจเหล่านี้โดยบังเอิญ
๐ เริ่มต้นใหม่ ปรับโครงสร้างใหม่
การระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วโลกในขณะนี้ ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ต้องปิดพรมแดนและยังส่งผลให้เกิดเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันด้านห่วงโซ่อุปทานต่อทุกอุตสาหกรรมรวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศในทั่วทุกภูมิภาคที่ครั้งหนึ่งเคยมีประสิทธิภาพในการช่วยลดต้นทุนในการผลิต กลับตกอยู่ในสภาวะคอขวดเนื่องจากสถานที่ทำงานและโรงงานปิดตัวลง การบริโภคของผู้บริโภคชะลอตัว และผู้ผลิตจำนวนมากไม่ได้เตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์นี้ โดยซัพพลายเออร์และผู้รับจ้างผลิต ต่างก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพในภาวะดังกล่าว
เหตุการณ์ครั้งนี้ เอื้อประโยชน์หนึ่งต่อประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สำคัญ คือการกระจายห่วงโซ่อุปทานสู่ท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงในอนาคต ผู้ผลิตรถยนต์ อาทิ เทสลา โฟล์คสวาเกน และโตโยต้า ได้ประกาศหรือกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณา เพื่อเพิ่มฐานการผลิตทั่วโลกในกลุ่มประเทศเป้าหมาย ด้วยการกระจายการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนต่างๆ ให้กับผู้ผลิตในแต่ละท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย (ทีเอ็มที) ได้ประกาศลงทุน 19 พันล้านบาทเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่โรงงานในจังหวัดฉะเชิงเทรา นอกจากนี้ บรรดาบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ก็กำลังขยายกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดเป้าหมาย ด้วยการเซ็นสัญญากับโรงงานรับจ้างผลิตข้ามชาติ รวมถึงตั้งฐานการผลิตในแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย
การดำเนินการดังกล่าว ช่วยให้ห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตสู่รูปแบบการผลิตที่มีศักยภาพและความยืดหยุ่นมากกว่าเมื่อเทียบกับการผลิตยานยนต์แบบดั้งเดิม ซึ่งจะส่งผลให้ไม่มีพื้นที่หรือศูนย์กลางการผลิตใดที่ผูกขาดห่วงโซ่อุปทาน โดยในส่วนของยูพีเอส เราได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความท้าทายด้านขนส่งต่างๆ ตลอดจนช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมในการผลิตที่ทรงประสิทธิภาพมากขึ้นทั่วภูมิภาค สอดคล้องกับการปรับตัวของอุตสาหกรรมสู่รูปแบบ New Normal
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ได้สร้างโอกาสให้กับธุรกิจท้องถิ่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ให้สามารถก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้สำเร็จ โดยหนึ่งในลูกค้าของยูพีเอสซึ่งเป็นผู้ผลิตป้ายไฟแอลอีดีสำหรับร้านค้า ได้รับการติดต่อจากผู้ผลิตรถยนต์ให้ผลิตไฟหน้ารถยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมยานยนต์และช่วยปิดช่องว่างของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงวิกฤตการณ์การระบาดของโควิด-19 ยูพีเอสคาดว่าความสำเร็จเช่นนี้จะกลายเป็นแนวโน้มธุรกิจในประเทศไทย เนื่องจากความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศและระดับภูมิภาคกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ที่แตกต่างกับรถยนต์เครื่องสันดาปภายใน อย่างมาก
ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่การเปลี่ยนผ่านเพื่อก้าวสู่รูปแบบตลาดมวลชน (Mass Market) นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งเราสามารถเห็นได้จากหลายเหตุการณ์ในปี 2563 สำหรับตลาดสำคัญๆ อย่างประเทศไทย ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ปรับตัวโดยพิจารณาลงลึกถึงรายละเอียดของห่วงโซ่อุปทานมากขึ้น รวมไปถึงกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ตลอดจนศึกษาความต้องการของลูกค้า รวมถึงมุมมองที่ว่าโออีเอ็มในประเทศไทยจะสามารถปรับตัวและสามารถสนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์ได้อย่างรวดเร็ว ผ่านการเสริมความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานและเครือข่ายผู้ผลิต ซึ่งนับเป็นเรื่องดีสำหรับประเทศไทยในฐานะที่เราเป็นแหล่งที่รวมผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้ว
๐ ก้าวสู่โลกยานยนต์ไฟฟ้า
ท้ายที่สุดแล้ว รถยนต์ไฟฟ้าจะก้าวต่อไปได้ขึ้นอยู่กับความต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการสร้างเครือข่ายการขนส่งที่มีความยั่งยืน สำหรับการดำเนินงานของยูพีเอสทั่วโลก เรากำลังลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่ออนาคตของยานยนต์ไฟฟ้าและยังคงมุ่งมั่นลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยลง ปัจจุบันรถขนส่งของยูพีเอสมากกว่า 10,300 คันทั่วโลกและ 25% ของรถส่งของในประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติหมุนเวียน นอกจากนี้ เมื่อปีที่ผ่านมาเราได้ประกาศแผนที่จะเปิดตัวรถตู้ส่งสินค้าแบบใช้แบตเตอรี่ 100% ที่ผลิตเพื่อยูพีเอสโดยเฉพาะจำนวน 10,000 คัน เพื่อใช้สำหรับการขนส่งในตัวเมืองต่างๆ ทั่วทั้งทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป
การเลือกใช้พลังงานไฟฟ้าคือส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของยูพีเอส ที่มุ่งมั่นลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการต่างๆ อาทิ การใช้นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน และโครงการปลูกป่า ทั้งนี้ ยูพีเอสทำงานร่วมกับผู้ผลิตยานยนต์และลูกค้าของเราในหลากหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก เพื่อเดินหน้าส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าในระดับสากลให้เกิดขึ้นได้จริง ในขณะเดียวกันยูพีเอสก็ยังคงให้ความสำคัญและมุ่งพัฒนา การดำเนินงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน
1https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?release=y&id=aVpURWRrc2lWVTQ9
2https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/2091151/clear-ev-plan-is-a-must