Rapid Antigen Test หรือการตรวจหาเชื้อไวรัส แตกต่างกับ Rapid Antibody Test หรือการตรวจหาภูมิคุ้มกัน อย่างไร ใครดีกว่ากัน
จากสถานการณ์โควิดระบาดระลอกที่สาม ซึ่งมีการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อไวรัสอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
ทำให้ประชาชนที่มีประวัติเสี่ยง ว่าจะสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ และอาจจะกลายเป็นผู้ติดเชื้อเอง มีจำนวนเพิ่มทวีคูณขึ้นเป็นเงาตามตัว
ความต้องการที่จะพิสูจน์ทราบว่า ตนเองติดเชื้อหรือไม่ จึงมีเพิ่มขึ้นอย่างมากด้วยเช่นกัน
ในปัจจุบัน การตรวจเพื่อพิสูจน์ทราบว่า มีการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิดหรือไม่ มีวิธีการที่จะพิสูจน์ทราบอย่างน้อย 3 วิธี ได้แก่
1) RT-PCR เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัสโดยตรง เก็บจากสารคัดหลั่งในโพรงจมูกด้านหลัง (Nasopharyngeal swab)
2) Rapid Antigen Test เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัสโดยตรง และเก็บจากสารคัดหลั่งในจมูกเช่นกัน
3) Rapid Antibody Test เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อไวรัส แล้วจึงนำมาแปลผลเชื่อมโยงว่า มีการติดเชื้อหรือไม่ เป็นการตรวจจากเลือดที่ปลายนิ้ว
ในบรรดาสามวิธีดังกล่าวข้างต้น วิธีที่มีความแม่นยำสูงที่สุด และเชื่อถือได้มากที่สุดในขณะนี้คือวิธี RT-PCR แต่ก็มีข้อจำกัดหลายประการได้แก่
1) การเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง จากโพรงจมูกด้านหลัง ยุ่งยากมาก ต้องแหย่ลึกเข้าไปถึงโพรงจมูกทางด้านหลัง จึงไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง
2) เมื่อได้ตัวอย่างสารคัดหลั่งแล้ว การนำสารคัดหลั่งไปตรวจ ต้องรอผลนาน 4-24 ชั่วโมง ในบางรายถ้าคิวยาวอาจใช้เวลาหลายวัน
3) มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เฉพาะต้นทุนจริงประมาณ 1500-2000 บาท
ทำให้เกิดคอขวด ในการตรวจคนหมู่มาก เช่นในประเทศไทยขณะนี้ แม้ตรวจได้ประมาณวันละ 80,000 ราย ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ
จึงต้องมาพิจารณาอีกสองวิธี ที่มีความแม่นยำและเชื่อถือได้น้อยกว่าได้แก่
1) Rapid Antigen Test เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัสโดยตรง แต่สามารถเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งในจมูกส่วนตื้นได้ จึงสามารถทำที่สถานพยาบาลขนาดเล็ก เช่น คลินิก หรือทำเองที่บ้านได้
สามารถทราบผลในเวลาที่รวดเร็วกว่า คือทราบผลในเวลา 15-30 นาที ราคาค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 300-800 บาท แต่มีความแม่นยำสู้วิธี RT-PCR ไม่ได้ คือจะตรวจพบเป็นบวกได้ช้ากว่า
การตรวจใน 1-3 วันแรกของการติดเชื้อ จะได้ผลเป็นลบ ต้องรอให้ถึงวันที่ 5 ไปแล้ว จึงจะมีโอกาสตรวจพบเป็นบวก และยังมีเรื่องความจำเพาะเจาะจง (Specificity) อาจจะมีผลบวกลวงหรือผลลบลวงได้ด้วย
2) Rapid Antibody Test เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อไวรัส ไม่ใช่ตรวจหาไวรัสโดยตรง จึงมีความจำเพราะเจาะจงแม่นยำน้อยกว่า และต้องรอเวลานานกว่า คือ ต้องรอให้มีภูมิคุ้มกันขึ้นให้ชัดเจน ส่วนใหญ่ต้องเกินวันที่ 5 ไปแล้ว
และมีความยุ่งยากในการแปลผลมากกว่า เพราะระดับภูมิคุ้มกันมีสองชนิด ซึ่งจะแปลผลต่างกัน
แต่การตรวจ ทำได้สะดวกและง่ายกว่าคือ เจาะเลือดที่ปลายนิ้ว
กล่าวโดยสรุปแล้ว วิธี Rapid Antigen Test เป็นวิธีที่มีความน่าเชื่อถือและแม่นยำกว่าวิธี Rapid Antibody Test แต่ทั้งสองวิธีสู้วิธีพื้นฐานเดิมคือ RT-PCR ไม่ได้
แต่เมื่อมีความจำเป็น จะต้องเปิดโอกาสให้มีการตรวจที่กว้างขวางขึ้น จึงต้องเลือกวิธี Rapid Antigen Test ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1) ใช้วิธีเก็บสารคัดหลั่งโดยการแยงจมูก ส่วนจะแยงลึกหรือตื้นเพียงใด ก็แล้วแต่ว่าเป็นของบริษัทใด
2) สามารถตรวจได้ที่คลินิกหรือสถานที่ที่รัฐกำหนด และในระยะต่อไปจะอนุญาตให้ซื้อจากร้านขายยาไปตรวจเองที่บ้านได้
3) จะตรวจพบไวรัสได้ในวันที่ห้าเป็นต้นไป
4) ราคาอยู่ในหลักร้อยบาท
5) ความไว (Sensitivity) และความแม่นยำ (Specificity) ดีกว่าวิธีตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันโรคจากการเจาะเลือดปลายนิ้ว
ขณะนี้มี 24 บริษัท ที่นำเข้าอุปกรณ์ดังกล่าว และได้รับการจดทะเบียนของอย.เรียบร้อยแล้ว ในช่วงแรกจำเป็นที่จะต้องไปตรวจที่สถานพยาบาลก่อน แต่ในระยะต่อไปจะอนุญาตให้ซื้อจากร้านขายยาไปตรวจเองที่บ้านได้
เมื่อถึงจุดนั้น จำเป็นที่จะต้องเลือกดังนี้
1) ดูบริษัทที่ขึ้นทะเบียนกับอย.ไว้แล้วเท่านั้น
2) เมื่อจะซื้อ ต้องตรวจดูว่ามี เครื่องหมายรับรองของอย.จริง
3) ตรวจดูวันผลิตและวันหมดอายุ
4) เมื่อเปิดกล่องดูอุปกรณ์ ต้องตรวจดูความเรียบร้อย
5) อ่านวิธีการตรวจ และวิธีแปลผล ให้เข้าใจโดยถ่องแท้ จะได้ทำได้ถูกต้องไม่ผิดพลาด และเวลาอ่านผลจะได้เข้าใจถูก ว่าติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้ออย่างไร
สิ่งที่ตามมาของการตรวจดังกล่าวในเชิงนโยบายภาพรวม คือ
ข้อดี ทำให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจได้รวดเร็วขึ้น มากขึ้น ไม่ต้องรอคิวนาน ความคับข้องใจลดลง
ข้อด้อย ผลไม่ได้แม่นยำ จำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจ จะได้ไม่เกิดวิตกเกินกว่าเหตุ หรือประมาทเกินกว่าเหตุ และยังจะต้องมีการตรวจซ้ำ
นอกจากนั้น จะพบมีผู้เป็นผลบวกเพิ่มขึ้นอีกมากมาย ซึ่งจะต้องเตรียมการทำความเข้าใจกับคนที่ทราบผลเป็นบวกว่า จะต้องกักตัวอย่างไร ทั้งการกักตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) การกักตัวในชุมชน (Community Isolation) หรือการไปสู่โรงพยาบาลสนาม
เป็นวิกฤตที่เกิดมาจากมาตรการ ควบคุมโรคระบาด ที่เน้นการประคับประคองมิติทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
จนมิติทางสาธารณสุขรับไม่ไหว วิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อรักษามิติทางสาธารณสุข จึงมีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นเป็นลำดับแบบในปัจจุบันนี้
สมควรที่ผู้เน้นมาตรการประคับประคองมิติทางเศรษฐกิจ จะต้องเร่งทำให้ตนเอง มีความรู้ความเข้าใจที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เกิดวิจารณญาณ และมีทัศนคติที่สามารถเห็นทางออกของสังคมในระยะยาว ที่จะเสียหายและกระทบกระเทือนน้อยที่สุดต่อไป
และควรปรับเปลี่ยน หรือเลิกความเชื่อที่ว่า ถ้าประคองสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไปเรื่อยเรื่อย แล้วปล่อยให้สาธารณสุขรับปัญหาไป สุดท้ายแล้วโรคระบาดจะจบสิ้นลงด้วยดี ควรเปลี่ยนแปลงแนวคิดความเชื่อแบบนี้เป็นอย่างยิ่ง และอย่างรวดเร็วด้วยครับ
Reference : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
บทความโดย ผศ.นพ. เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ
สมาชิกวุฒิสภาไทย
ติดตามข้อคิดเห็นน่าสนใจที่ ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย https://www.blockdit.com/pages/5eba49da9801350cae915b69