ผลจากการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart patrol) ของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ กับการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ของคนในชุมชน ทำให้สัตว์ป่าเพิ่มจำนวน ซึ่งการประเมินผลปฏิบัติงานรอบ 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2564) ของเขตพันธุ์รักษาสัตว์ป่าแม่น้ำภาชี จากกล้องดักถ่าย (Camera Tap) พบว่ามีสัตว์ป่าหายากหลายชนิดออกมาอวดโฉม รวมถึงไม่พบเหตุล่าสัตว์ในพื้นที่
จากข้อสั่งการของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เพื่อป้องกันการล่าสัตว์ป่าให้มากขึ้นเป็นสองเท่า ตามนโยบาย ทส.ยกกำลัง 2+4 เจ้าหน้าที่ได้มีการลาดตระเวนอย่างเข้มข้น เป็น 2 เท่าไม่เว้นวันหยุด แม้จะอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด 19 ก็ตาม
หน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อย่าง ขสป.ภาชี เป็นอีกตัวอย่างในการติดตามผลการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง
นายชุมพล แก้วเกตุ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี จ.ราชบุรี เผยว่าในรอบล่าสุด ติดตามตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ถึงเดือนมิถุนายน 2564 เป็นการเก็บข้อมูลจากกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าคาเมล่าแทป ที่ติดตั้งไว้ทั้งหมด 60 ตัว กระจายในพื้นที่เพื่อติดตามความหนาแน่นของประชากรสัตว์ป่า ซึ่งจะได้นำมาวางแผนการอนุรักษ์สัตว์ป่าเหล่านี้ต่อไป
ซึ่งเมื่อตรวจสอบภาพสัตว์ป่าในกล้องดักถ่าย พบว่ามีภาพของสัตว์ป่าหายาก หลากหลายชนิด ซึ่งบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ได้อย่างดี สัตว์ป่าที่พบ เช่น สมเสร็จ เลียงผา ละองละมั่ง แมวดาว เก้ง กระทิง หมีหมา หมีควาย ลิงแสน ชะมด อีเห็น หมาใน หมาจิ้งจอก พังพอน เต่าใบไม้ เต่าหก ไก่ฟ้าหลังเทา เป็นต้น (ชมคลิป)
“ความสำเร็จในการอนุรักษ์ครั้งนี้นอกจากเจ้าหน้าที่จะมีการวางแผนการลาดตระเวนอย่างเข้มข้นแล้ว ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์แห่งนี้ ยังให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในบริเวณดังกล่าวเป็นอย่างดี ประกอบกับ พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ฉบับใหม่ ปี 2562 โทษของการล่าสัตว์ป่า มีโทษรุนแรงมากขึ้น มีการกำหนดโทษจำคุกสูงสุด ถึง 15 ปี ปรับสูงสุด ถึง 1.5 ล้านบาท และต้องชดใช้มูลค่าเสียหายจากสัตว์ป่าที่ตายไปตัวละหลายหมื่นบาท ทำให้การล่าสัตว์ป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์แห่งนี้ไม่เกิดขึ้นเลย กล่าวได้ว่าในพื้นที่แห่งนี้ไม่พบพรานล่าสัตว์ เพราะความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ เป็นสัญญาณที่ดีของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าอย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้ แนวปฏิบัติของหน่วยงานอุทยานฯ ในการลาดตระเวณเชิงคุณภาพ (smart patrol ) คือ ระบบการเดินลาดตระเวนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ เพิ่มศักยภาพในการป้องกัน ปราบปราม และการจัดการพื้นที่ โดยการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อวางแผนลาดตระเวณ การเก็บข้อมูล วิเคราะห์ประมวลผลในมาตรฐานเดียวกันทุกที่
ส่วน “นโยบายทำงานยกกำลัง 2+4”รมว.ทส. แถลงมอบนโยบายนี้มาตั้งแต่ 25 พฤศจิกายนปีที่ผ่านมา เพื่อให้มีการยกระดับคุณภาพในการทำงาน ด้วยการวางเป้าหมายให้สั้น และวัดผลได้ นอกจากทำงานมากขึ้นเป็นสองเท่าแล้ว บวก 4 (+4) หมายความว่า บวกที่1 คือยกย่องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ การน้อมนำแนวทางพระราชดำริ มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน บวกที่2 คือการมีส่วนร่วมของประชาชน บวกที่3 คือการแสวงหาความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการเพิ่มศักยภาพการทำงานอยู่เสมอ และบวกที่4 คือมีหลักธรรมาภิบาลในการทำงาน ซึ่งขอให้นำทุกสิ่งมารวมเป็นทส.หนึ่งเดียว มาร่วมมือกันในการทำงาน เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ
นโยบายดังกล่าว รมว.ทส.กล่าวว่าจะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยมีศักยภาพที่ดีขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้ พร้อมเน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการขับเคลื่อนงานต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์งานที่ได้ทำ ว่าจะทำอย่างไรที่จะให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสนใจงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช