xs
xsm
sm
md
lg

พบ “อึ่งผี” ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ห้วยขาแข้ง ระบุใกล้สูญพันธุ์ เพราะชาวบ้านชอบกินลูกอ๊อด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รายงานความสำเร็จด้านการอนุรักษ์ พบ “อึ่งกรายลายเลอะ” หรือ “อึ่งผี” สัตว์รูปร่างแปลกตา ระบุปัจจุบันมีปริมาณลดลงจนใกล้สูญพันธุ์ เพราะชาวบ้านชอบกินลูกอ๊อด และชุมชนเมืองขยายตัว จึงอยู่ในการอนุรักษ์ของกรมประมง


เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ป่าสมบูรณ์ผืนใหญ่ ที่เต็มไปด้วยหลากหลายทางชีวภาพ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) รายงานว่า พบสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีความแปลกตา อาศัยอยู่ในผืนป่ามรดกโลกแห่งนี้ นั่นก็คือ "อึ่งกรายลายเลอะ" หรือ “อึ่งผี” หรือ “อึ่งกรายหมอสมิธ” (Smith’s litter frog) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Leptobrachium smithi ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้กับ มัลคอล์ม อาเธอร์ สมิธ นักวิทยาสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชาวอังกฤษ ที่ได้เข้ามาทำการศึกษาค้นคว้าสัตว์ประเภทนี้ในประเทศไทยและคาบสมุทรมลายู

พวกมันถูกค้นพบครั้งแรกที่ ต้นน้ำตกพลู บนเขาช่องจังหวัดตรัง เมื่อปี ค.ศ. 1999 ลักษณะเด่นของอึ่งผี คือ มีดวงตาด้านบนมีสีแดงหรือส้มเหลืองวาว ตาโปน มีหัวที่ใหญ่กว่าลำตัว ขาค่อนข้างสั้น ผิวหลังด้านหลังมีลายสีเข้ม พื้นสีผิวเป็นสีเทา พบได้มากในบริเวณพื้นป่า และบริเวณใกล้ลำธารในป่าดิบแล้งถึงป่าดิบเขา

พบได้ทั่วใดในแนวป่าตะวันตกของประเทศไทยจนถึงแหลมมลายู ตั้งแต่ภาคใต้ของไทยลงไป จนถึงเกาะลังกาวีในประเทศมาเลเซีย มีเสียงร้องดังคล้ายเป็นเสียงเป็ด และนิสัยที่ไม่ขี้อาย พวกมันไม่กลัวมนุษย์ และด้วยสีสันลวดลายที่มันมีนั้น ทำให้คนที่พบเห็นรู้สึกกลัว จึงเป็นที่มาของชื่อว่า “อึ่งผี” แต่คนท้องถิ่นส่วนมากนั้นจะเรียกชื่อตามเสียงร้องของมันว่า “ย่าก๊าบ”

ปัจจุบันมีปริมาณลดลงจนใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากความนิยมในการรับประทานลูกอ๊อดของอึ่งผีมีมากในท้องถิ่น เพราะขนาดลูกอ๊อดของพวกมันใหญ่กว่าลูกอ๊อดทั่วไป และยังเผชิญกับปัญหาการสูญเสียที่อยู่หรือแหล่งอาศัยเพราะการขยายตัวของชุมชนเมือง ปัจจุบันพวกมันจึงอยู่ในการอนุรักษ์ของกรมประมง

อ้างอิง : ส่องโลกกว้าง https://worldnewsroom.info/?p=4304
ภาพ : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


กำลังโหลดความคิดเห็น