แม้มนุษย์จะพยายามคิดค้นวิธีการต่างๆ เพื่อหยุดยั้งความแก่ชรา ด้วยเทคโนโลยีและวิทยาการอันล้ำสมัยเพื่อให้สามารถคงความเป็นหนุ่มสาวเอาไว้ให้ได้ แต่ยังคงทำได้เพียงชั่วคราว
วารสาร Nature Communications ฉบับล่าสุด ตีพิมพ์รายงานการวิจัยผลการศึกษากลุ่มประชากรขนาดใหญ่ทั่วโลก โดยทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจาก 14 ประเทศ ซึ่งรวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักร เผยหลักฐานทางสถิติที่บ่งชี้ว่า "อัตราคงที่ของความชรา" (invariant rate of aging) มีจริง และถึงแม้จะมีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในเรื่อง “การชะลอวัย” แต่ก็ไม่ได้ผลอย่างแท้จริง เนื่องจากมนุษย์มี “ข้อจำกัดทางชีวภาพ” ซึ่งความแก่ของสิ่งมีชีวิตถูกควบคุมด้วยปัจจัยทางชีวภาพในตนเองเป็นอันดับแรก และมีอิทธิพลเหนือกว่าปัจจัยแวดล้อมภายนอก อย่างเช่น สภาพอากาศ อาหาร หรือการดูแลรักษาสุขภาพด้วยวิธีต่างๆ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีผลวิจัยเม็ดเลือดพบว่า อายุขัยที่แท้จริงของมนุษย์คือ 150 ปี และมนุษย์ไม่ได้ชราลงอย่างต่อเนื่อง แต่ร่างกายจะมีความเสื่อม 3 ครั้งใหญ่ในชีวิต ครั้งแรกในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เมื่ออายุ 34 ปี อีกครั้งในวัยกลางคนตอนปลาย เมื่ออายุ 60 ปี และในวัยชรา เมื่อมีอายุ 78 ปี
ผลวิจัยนี้เป็นการย้ำว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังไม่สามารถจะเอาชนะข้อจำกัดทางชีวภาพของมนุษย์
ที่มา-BBC
ภาพ - GETTY IMAGE