ทีมวิจัยจุฬาฯ เปิดตัว Cure Air Sure หน้ากากอนามัยประสิทธิภาพสูง กรองฝุ่น PM2.5 และป้องกันเชื้อโรคได้ถึง 99.9% ใส่สบาย หายใจสะดวก แถมใช้วัสดุโปร่งใสเผยรอยยิ้ม วางแผนจำหน่ายความสบายและปลอดโรคในราคาเบาๆ เร็วๆ นี้
สถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5 ระลอกแล้วระลอกเล่ามาจนถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าจะสงบ ทำให้เทคโนโลยีการกรองอากาศกลายเป็นสินค้าจำเป็นสำหรับชีวิตวิถีใหม่ ที่โหยหาอากาศบริสุทธิ์ปลอดเชื้อโรคมากขึ้นเรื่อยๆ
ผลิตภัณฑ์หน้ากากกรองอากาศในท้องตลาดมีมากมายหลายรูปแบบ แต่ประสิทธิภาพและความสบายในการสวมใส่ยังเป็นประเด็นที่ผู้ใช้ไม่สู้มั่นใจนัก ด้วยเหตุนี้ โครงการ “เทคโนโลยีการกรองประสิทธิภาพสูงเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศไทย” นำโดย ศาตราจารย์ ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวหน้ากากกรองอากาศด้วยเทคโนโลยีฝีมือคนไทย Cure Air Sure
"หน้ากาก Cure Air Sure ผ่านการทดสอบคุณสมบัติได้ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพการกรองอนุภาคที่สูงถึง 99.93% ประสิทธิภาพการกรองแบคทีเรีย 99.9% นอกจากนี้ยังสามารถต้านทานการทะลุผ่านของเลือดสังเคราะห์ได้และไม่ติดไฟ” ศ.ดร.อนงค์นาฏ กล่าวและเสริมว่า นอกจากประสิทธิภาพแล้ว ความสบายในการสวมใส่ การมีพื้นที่หายใจมากขึ้น และส่วนฟิลเตอร์ของหน้ากากลดการสร้างขยะพิษล้นโลกก็เป็นเรื่องที่คณะวิจัยให้ความสำคัญ
“เราต้องการความมั่นคงทางสุขภาพของคนไทย ในวันที่ประเทศไทยไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์การกรองอากาศได้” ศ.ดร.อนงค์นาฏ เผยมูลเหตุจูงใจที่ริเริ่มโครงการวิจัยและผลิตหน้ากากกรองอากาศ Cure Air Sure
จากช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรก อุปกรณ์หน้ากากอนามัยที่เหมาะกับหัตถกรรมทางการแพทย์ขาดแคลนอย่างหนัก เพราะเป็นที่ต้องการทั่วโลก ประเทศที่ผลิตหน้ากากอนามัยก็ชะลอการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบนี้ไปด้วย ประจวบกับมีกลุ่มคนที่นำหน้ากากที่มีคุณภาพต่ำ ไม่ได้การรับรองมาจำหน่าย ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ฉะนั้น ประเทศไทยควรมีแหล่งผลิตหรือนวัตกรรมการกรองอากาศเป็นของตัวเองเพื่อแจกจ่ายหน้ากากที่มีคุณภาพให้คนในชาติอย่างเพียพอ
ผศ.ดร.รัฐพล รังกุพันธุ์ สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาฯ หนึ่งในทีมผู้พัฒนาหน้ากากในโครงการเล่าเสริมว่า ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ร่วมกับสภากาชาดไทยเลือกให้คณะทำงานจากโครงการฯ เป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพชุด PPE หน้ากาก N95 และหน้ากาก KN95 ที่ได้รับบริจาคมาว่ามีคุณภาพเพียงพอต่อหัตถการทางการแพทย์เพียงใด ก่อนจะแจกจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก และต่อมาภายหลัง ทีมของจุฬาฯ ก็เปิดให้บริการทดสอบหน้ากาก N95 หน้ากากอนามัย และหน้ากากผ้าแก่ผู้บริจาคและบุคคลภายนอกโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
“หน้ากากจำนวนมากมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรเป็น ทำให้ผู้ใช้งานต้องเสี่ยงอันตราย คณะทำงานจึงเกิดแนวคิดว่าประเทศไทยควรมีเทคโนโลยีด้านการกรองภายในประเทศเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ขาดแคลนหน้ากากป้องกันระดับสูงในอนาคต” ผศ.ดร.รัฐพล กล่าว
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการรวมทีม สร้างความร่วมมือระหว่างคณาจารย์และภาคเอกชนจัดตั้งเป็นบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม Cure Enterprise โดยกว่า 70% ของผลกำไรจะกลับคืนสู่จุฬาฯ
“เราตั้งใจว่าจะส่ง CURE Air Sure ล็อตแรกไปให้เจ้าหน้าที่หน้าด่าน ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูงจากโรคโควิด-19 เช่น ผู้ให้บริการหน้าจุดตรวจต่างๆ ผู้คัดกรองก่อนฉีดวัคซีน อาสาสมัคร เป็นต้น ก่อนที่จะจัดจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปเร็วๆ นี้” ผศ.ดร.รัฐพล กล่าว
ทางโครงการได้รับทุนการผลิตหน้ากากเพื่อบริจาคจากคณะศิษย์เก่า จุฬาฯ ส่วนทุนสนับสนุนการวิจัยนั้นได้รับจาก ทุนศตวรรษที่ 2 (The Second Century Fund, Chula : C2F) โดยได้รับความร่วมมือในการพัฒนาหน้ากากจากอาจารย์ นักวิจัยในจุฬาฯ และภาคเอกชน ได้แก่ สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)
๐ คุณสมบัติพิเศษของ Cure Air Sure
หน้ากากกรองอากาศ Cure Air Sure ได้รับการออกแบบและพัฒนาโดยเน้นคุณสมบัติสำคัญ 3 ประการ
1. ประสิทธิภาพการกรองอากาศ ซึ่งเป็นหัวใจของเทคโนโลยีการกรองอากาศ หน้ากาก Cure Air Sure กรองอนุภาคขนาดเล็กได้มากกว่า 95% ซึ่งถือได้ว่ามีประสิทธิภาพการกรองเทียบเท่าหน้ากาก N95
2. ลดปัญหาการจัดการขยะพิษ หน้ากากอนามัยเป็นของจำเป็นที่ต้องสวมใส่และรักษาความสะอาดอยู่เสมอ Cure Air Sure พัฒนารูปแบบให้ใช้แผ่นกรองแบบเปลี่ยนได้ เนื้อวัสดุน้ำหนักเบาเพียง 15% ของหน้ากากอนามัยทั่วไป เป็นขยะชิ้นเล็กกว่าหน้ากาก N95 ช่วยลดปริมาณขยะติดเชื้อที่กำจัดยากได้มาก
3. สวมใส่สบาย กระชับใบหน้า ตัวหน้ากาก Cure Air Sure ทำจากพลาสติกใส ฉีดขึ้นรูป แข็งแรง ป้องกันรอยขีดข่วน และทนต่อสารเคมี ขอบซิลิโคนรอบหน้ากากมีความยืดหยุ่นแนบกระชับกับใบหน้าของผู้สวมใส่ ช่วยลดการระคายเคืองระหว่างผิวกับหน้ากาก และยังช่วยลดการรั่วไหลของอากาศภายนอกสู่ภายในหน้ากาก ช่วงหน้ากากที่กว้างขึ้นช่วยกักเก็บอากาศ ทำให้หายใจสะดวก ลดการอับชื้น สายรัดศีรษะก็ปรับความยาวได้
“จากการทดลองใส่จริงประมาณ 3-4 ชั่วโมง พบว่าหน้ากาก Cure Air Sure ใส่สบายกว่าหน้ากาก N95 แม้จะมีไอขึ้นบริเวณหน้ากากขณะพูดอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกอับชื้นขณะสวมใส่ นอกจากความสบายในการสวมใส่แล้ว การดูแลและทำความสะอาดหน้ากากก็ง่าย เพียงล้างโครงหน้ากากด้วยน้ำสบู่ น้ำเปล่า และตากแห้ง ส่วนฟิลเตอร์กรองก็เปลี่ยนเพียงอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ราคาไม่เกิน 30 บาท” ศ.ดร.อนงค์นาฏ กล่าว
๐ เตรียมจำหน่ายหน้ากากคุณภาพสูง
ศ.ดร.อนงค์นาฏ กล่าวว่าผลการทดสอบคุณสมบัติต่างๆ ของแผ่นกรองและ fit test ของหน้ากาก Cure Air Sure เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้อยู่ในช่วงพิจารณาช่องทางการจัดจำหน่าย
“การทดสอบ fit test เป็นการทดสอบความพอดีของหน้ากาก ซึ่งขึ้นกับขนาดรูปหน้าของผู้สวมใส่ จากการทดสอบกับอาสาสมัครหลายท่านพบว่า หน้ากากมีความพอดีกับคนส่วนใหญ่ แต่ผู้ที่มีโครงหน้ายาวและจมูกโด่งก็อาจจะไม่ฟิตนัก”
Cure Air Sure 1 ชุด ประกอบด้วยโครงหน้ากากและฟิลเตอร์จำนวน 4 ชิ้น (ใช้ได้ 1 เดือน) ราคา 400 บาท ชุดฟิลเตอร์เพียงอย่างเดียว จำนวน 4 ชิ้น ราคา 100 บาท ซึ่งหากใช้หน้ากากทุกวัน จะมีค่าใช้จ่ายไม่ถึง 5 บาทต่อวัน
สุดท้าย ศ.ดร.อนงค์นาฏ เผยว่าคณะวิจัยกำลังพัฒนาหน้ากากรุ่นถัดไปสำหรับผู้ที่ต้องการแต่งหน้า และต้องการหน้ากากที่รองรับการแต่งหน้าได้ในขณะที่ยังคงประสิทธิภาพในการกรองอากาศเพื่อป้องกันเชื้อโรคและมลพิษทางอากาศดีเหมือนเดิม