ทช.โชว์ปฏิบัติการกู้วิกฤตพิชิต "อวนยักษ์" เกาะโลซิน บูรณาการทุกฝ่ายระดมทีมและอุปกรณ์พร้อมภารกิจปกป้องโลกใต้ทะเลจากน้ำมือมนุษย์ที่ไม่มีจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม เผยภาพวิธีการเก็บซากอวนที่ปกคลุมแนวปะการังใต้ทะเลกว่า 2,700 ตารางเมตร กำหนดแผนติดตามผล 3 เดือนข้างหน้า
จากกรณีที่มีนักท่องเที่ยวไปดำน้ำบริเวณแนวปะการังเกาะโลซินเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ได้ถ่ายภาพใต้น้ำและเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียล พบว่าปะการังถูกคลุมด้วยอวนขนาดใหญ่ ทำให้แนวปะการังได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ด้วยเหตุนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเร่งหาแนวทางการจัดการอย่างเร่งด่วน ได้จัดการประชุมวางแผนการทำงาน โดยบูรณาการทุกฝ่ายเพื่อกู้วิกฤตดังกล่าว โดยมีนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นตัวแทนการประชุม พร้อมด้วยผู้แทนทัพเรือภาคที่สอง นักวิชาการด้านปะการัง รวมถึงอาสาสมัครนักดำน้ำ ร่วมระดมความคิดเห็นจนนำมาสู่แผนปฏิบัติ ซึ่ง “แผนปฏิบัติการกู้วิกฤตพิชิตอวนยักษ์เกาะโลซิน” ได้มีนักดำน้ำจากทัพเรือภาคที่สองจำนวน 16 นาย นักดำน้ำกรมทรัพยากรทางทะเล และอาสาสมัคร จำนวน 26 คน ผู้สื่อข่าวและช่างภาพใต้น้ำจาก 5 สำนักข่าว จำนวน 12 คน
ทั้งนี้ ทัพเรือภาคที่สองได้สนับสนุนยุทโธปกรณ์ และเรือหลวงราวีซึ่งมีห้องปรับแรงดันบรรยากาศสูง จำนวน 2 แคปซูลในเรือ และเรือต.991 ตลอดจนเครื่องบินตรวจการและเฮลิคอปเตอร์อย่างละ 1 ลำ พร้อมทีมแพทย์สนามเพื่อดูแลการปฏิบัติการอย่างใกล้ชิด โดยแผนปฏิบัติฯ เริ่มขึ้นในตอนเช้าของวันที่ 19 มิถุนายน 2564 นักดำน้ำอาสาสมัครเริ่มดำน้ำสำรวจและกำหนดพื้นที่เป้าหมาย ก่อนขึ้นมาประชุมและวางแผนเพื่อจัดทีมดำน้ำแบ่งเป็นชุดเพื่อกระจายเป็นโซน การปฏิบัติภารกิจเป็นเวลารวม 2 วัน สามารถเก็บกู้อวนทั้งหมดขึ้นมาได้น้ำหนักรวม 800 กิโลกรัม ความยาว 200 เมตร กว้าง 50 เมตร
ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการเก็บกู้ ทีมนักดำน้ำอาสาสมัครและทีมวิจัยได้ลงดำน้ำอีกครั้งเพื่อประเมินความเสียหายของปะการัง และซ่อมแซมกิ่งที่แตกหักเสียหาย ซึ่งผลการสำรวจประเมินพบว่า อวนปกคลุมแนวปะการังเป็นพื้นที่ 2,750 ตารางเมตร ปะการังได้รับความเสียหายเป็นพื้นที่ประมาณ 550 ตารางเมตร ลักษณะความเสียหายหลักคือปะการังซีดจาง ฟอกขาวบางส่วน คิดเป็นพื้นที่ร้อยละ 10 ของพื้นที่ที่ถูกปกคลุมทั้งหมด ปะการังแจกหัก ได้แก่ ปะการังเขากวาง ปะการังแผ่น ปะการังจาน คิดเป็นร้อยละ 5 ของพื้นที่ที่ถูกปกคลุมทั้งหมด ปะการังมีรอยถลอกจากการถูกเสียดสี คิดเป็นร้อยละ 5 ของพื้นที่ที่ถูกปกคลุมทั้งหมด และส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลชนิดอื่น ประกอบด้วย ดอกไม้ทะเล และสัตว์หน้าดิน เช่น ปู หอยเม่น ที่ถูกทับและพันเกี่ยว พร้อมกันนี้ ทีมนักดำน้ำได้ดำเนินการฟื้นฟู ปลูกปะการังทดแทนในพื้นที่เสียหาย จำนวน 500 กิ่ง และมีแผนติดตามการดำเนินการในอีก 3 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กำหนดการประชุมเพื่อทบทวนกระบวนการเก็บกู้อวนบนแนวปะการัง เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการครั้งต่อๆ ไป พร้อมมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสืบหาผู้กระทำผิดต่อไป