วิศวะมหิดล-จันวาณิชย์ ผนึกพลังวิจัยและพัฒนาระบบนวัตกรรมสารสนเทศทางการแพทย์อัจฉริยะเพื่อสุขภาพคนไทยและอนาคตประเทศไทย
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ร่วมกับ ธนพล กองบุญมา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จันวาณิชย์ จำกัด ในโครงการวิจัยและพัฒนาระบบนวัตกรรมสารสนเทศทางการแพทย์อัจฉริยะ วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ด้านวิชาการ การวิจัย การผลิตนวัตกรรม และการพัฒนาบุคลากร สร้างสรรค์ทักษะด้านระบบเทคโนโลยีการแพทย์อัจฉริยะร่วมกัน พร้อมทั้งร่วมศึกษาวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานการส่งผ่านข้อมูลทางการแพทย์ และดำเนินกิจกรรมบริการวิชาการอื่นๆ กับองค์กรของรัฐและเอกชนที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน สังคมและประเทศชาติ
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท จันวาณิชย์ จำกัด ได้ทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง และในครั้งนี้เป็นการร่วมมือครั้งสำคัญใน โครงการวิจัยและพัฒนาระบบนวัตกรรมสารสนเทศทางการแพทย์อัจฉริยะ ระยะ 5 ปี เพื่อพัฒนาโครงข่ายและเครือข่ายการพัฒนาสาธารณสุขดิจิทัลของประเทศไทยในยคเทคโนโลยี 5G ท่ามกลางความท้าทายและการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่โควิด-19 ซึ่งระบบจะเชื่อมต่อและส่งข้อมูลอย่างรวดเร็วเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย คุณภาพความแม่นยำของงานรักษาพยาบาล/ฟื้นฟู และลดต้นทุนด้านเวลา ภาระงานของบุคลากรแพทย์และค่าใช้จ่ายของรพ.
โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีแนวทางดำเนินงาน ดังนี้ 1. สนับสนุนและร่วมผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบข้อมูลสารสนเทศสุขภาพและการแพทย์ของประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยน พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติ 2. ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยและแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งการจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง 3. สนับสนุนคณาจารย์และนักวิจัยให้สามารถทำการค้นคว้าในโครงการวิจัยได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้โดยเป็นไปตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย 4. ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมสารสนเทศการแพทย์อัจฉริยะ เพื่อสนับสนุนความก้าวหน้า ในบริการสุขภาพและการแพทย์ดิจิทัล
ธนพล กองบุญมา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จันวาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งมากว่า 100 ปีด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ความร่วมมือกับคณะวิศวะมหิดล จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมเฮลท์แคร์ของประเทศไทยให้ตอบโจทย์เฮลท์แคร์ยุคดิจิทัล ในปัจจุบันรูปแบบของการรักษาพยาบาลมีแนวโน้มใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาผสมผสานการใช้องค์ความรู้ในหลากหลายศาสตร์ ประกอบด้วยความสามารถของคน Data และ เทคโนโลยี เรามีความมุ่งมั่นที่จะสร้าง Infrastructure เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีและเสริมความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมและบริการเฮลท์แคร์ ในความร่วมมือครั้งนี้ บริษัท จันวาณิชย์ จำกัด จะมีบทบาทดังนี้ 1.) ศึกษาความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ 2.) ศึกษาวิจัยแนวทางการออกแบบทางสถาปัตยกรรมระบบสารสนเทศ 3.) ศึกษาวิจัยและพัฒนางานวิจัยด้านสุขภาพและการแพทย์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) 4.) สนับสนุนด้านสถานที่ เครื่องมืออุปกรณ์ ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร.เคอิตา โอโน่ ผู้อำนวยการสำนักบ่มเพาะและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม (Innogineer) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยพบว่า 5 ปัจจัย ที่ทำให้ Digital Healthcare เติบโตในหลายประเทศ คือ 1.) สังคมมีประชากรสูงวัยมากขึ้น (Ageing Population) 2.) การสนับสนุนนโยบายทางการเมืองที่ส่งผ่านทาง WHO หรือ UN ใน Sustainable Goal Development (SDG) เป้าหมายการพัฒนาเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งมี 97 ข้อนั้น ใน 3 ข้อ จะเป็นเรื่องเฮลแคร์ เป็นจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับพัฒนาสุขภาพของประเทศทั่วโลกให้ก้าวหน้าดีขึ้น 3.) Accountable Care Organization (ACO) ระบบเฮลแคร์ในหลายๆประเทศรวมถึงประเทศไทย จะดูแลบริหารจัดการโดยส่วนกลางจากรัฐบาล บุคลากรแพทย์และ รพ.จะต้องแบกรับภารกิจหนักและปัญหาในส่วนนี้ จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์มากขึ้นและต้นทุนลดลง 4.) สร้างระบบดูแลสุขภาพอย่างครบวงจรมีความสำคัญยิ่ง มิใช่เพียงดูแลกันเป็นครั้งๆ เพราะสุขภาพไม่ใช่เรื่องของคนๆเดียวแต่เป็นเรื่องของชุมชนส่วนรวมและประเทศด้วย 5.) เทรนด์การรักษาจากโรงพยาบาลให้กระจายตัว โดยการรักษาพยาบาลและฟื้นฟูผู้ป่วยนอกสถานที่ แบบ Ambulatory Care ผู้ป่วยอยู่บ้านมากขึ้น ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ว่าจะทำอย่างไรถึงเพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดต้นทุนมากขึ้น เช่น ประหยัดเวลา ค่าเดินทาง ลดขั้นตอนการรักษาพยาบาลและติดตามผลทำได้รวดเร็ว
"ในอนาคตปี 2025 เราจะเริ่มเห็น Healthcare เติบโตปีละกว่า 8% ซึ่งจะเป็นตลาด Digital Healthcare โดยเฉพาะสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศไทยด้วย"