ในต่างประเทศ ทุกวันที่ 1 เมษายน ของแต่ละปี มีธรรมเนียมการสื่อสารเรื่องโกหกหลอกลวงกัน เป็นการหยอกล้อในวงสังคม เรียกว่า "วันเมษาหน้าโง่" (April Fool's Day ) แล้วเฉลยกันวันรุ่งขึ้นว่า"เป็นเรื่องไม่จริง"
เพราะฉะนั้นผู้รับสารข้อความ จะต้องใช้วิจารณญาณว่า ข่าวสารที่ได้รับเป็นเรื่องจริง หรือเรื่องปลอม
สำหรับในประเทศไทยเรา มีการบิดเบือนและดัดแปลงข้อมูลข่าวสารมานานนับศตวรรษแล้ว ดังเช่นเรื่องของนายกุหลาบ ตฤษณานนท์เจ้าของนสพ.สยามประเภทสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักปลอม
ประวัติศาสตร์จนต้องถูกจับตัวส่งโรงพยาบาลบ้าเพื่อปรับทัศนคติ เขาถูกตราหน้าว่าเป็นคน "กุ ข่าว" บางทีก็ขนานนามคนปล่อยข่าวลวง ข่าวปลอมตามพยางค์แรกของชื่อเขาว่า "กุ "เฉยๆ ก็เป็นอันเข้าใจกันว่าคำพูดของคนๆนั้นเชื่อถือไม่ได้
เมื่อมาถึงศตวรรษที่ 21 โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี่การสื่อสาร และระบบอินเทอร์เนตที่เรียกว่า Disruptive Communication ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพฤติกรรมการเสพข่าวของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการส่งข่าวลวงและข่าวปลอม (Fake news) เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพซึ่งพบว่ามีการส่งต่อข้อมูลแบบผิดๆสูงกว่าร้อยละ 80 จากบรรดาข่าวปลอมทั้งหมด และการส่งข่าวปลอมในกลุ่มสื่อสังคมออนไลน์แบบปิด ยิ่งมีอันตรายสูง เนื่องจากผู้เข้าร่วมย่อมมีความผูกพันไว้ใจเชื่อใจกันง่ายกว่าคนแปลกหน้า ส่งผลให้ผู้บริโภครับข้อมูลด้านเดียว เลือกรับฟังหรือเลือกเชื่อเฉพาะในสิ่งที่ตนเองคุ้นเคย แม้ข่าวปลอมจะมีการพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง แต่รอเวลาผ่านไประยะหนึ่งก็มีการนำมาแชร์อีกหลายๆครั้ง
ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างวิดิโอปลอมที่เรียกว่า Deepfake ซึ่งทำทั้งเสียงและภาพปลอมได้ง่ายและเสมือนจริงเป็นอย่างมาก
ประเทศไทยมีมาตรการทางกฏหมายเพื่อป้องกันและขจัดข่าวลวงข่าวปลอมอันจะทำให้บุคคลหรือองค์กรได้รับความเสียหาย ซึ่งนอกจากจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฏหมายอาญาและเป็นการละเมิดตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วยังอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามพรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ.2550 และพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์พ.ศ.2562 อีกด้วย
องค์การUNESCOได้ให้ความสนใจในเรื่องข่าวลวงข่าวปลอมอยู่มาก โดยได้จัดทำหนังสือคู่มือเพื่อส่งเสริมการทำงานของสื่อมวลชนอย่างมีคุณภาพและพยายามไม่เรียกสิ่งลวงสิ่งปลอมเหล่านั้นว่า"news-ข่าว " หากแต่เรียกว่า ข้อมูลบิดเบือน (disinformatio ) และข้อมูลที่ผิด (misinformatio ) หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในไทยต่างก็ให้ความสนใจขจัดข่าวลวงข่าวปลอม สำหรับพุทธศาสนิกชนควรนำคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือพระสูตร" กาลามสูตร "มาใช้เป็นแนวทางในการวิเคราะห์สำหรับข้อมูลข่าวสารในยุคปัจจุบัน.
บทความโดย มานิจ สุขสมจิตร
ภาคีสมาชิก ประเภทวิชาสังคมศาสตร์ สาขาวิชานิเทศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา เสนอต่อที่ประชุมราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง