อุทยานแห่งชาติสิรินาถเผย วาฬหัวแตงโมเกยตื้น-บาดเจ็บเสียชีวิตแล้ว หลังจากอาการทรุดลงต่อเนื่อง พร้อมรายงานการชันสูตร สันนิษฐานเบื้องต้นว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการเจ็บป่วยตามธรรมชาติ
นายปราโมทย์ แก้วนาม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต เปิดเผยเมื่อวาน (12 มิถุนายน 2564) ถึงความคืบหน้าในการช่วยเหลือวาฬหัวแตงโมเกยตื้น ที่หาดในยาง ตำบลสาคู อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ว่า หลังจากส่งมอบวาฬ ให้เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) นำไปอนุบาลพักฟื้น โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบมีบาดแผลถลอกเล็กน้อยบริเวณครีบหลัง และลำตัว ใต้ท้องมีแผลเปื่อย บริเวณปากมีลักษณะแหว่ง ฟันด้านในกร่อน ไม่สามารถว่ายน้ำได้อย่างปกติ
ต่อมา เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 ได้รับรายงานเบื้องต้นว่า วาฬมีระดับความสมบูรณ์ร่างกายอยู่ในระดับผอม อัตราการหายใจ 6 ครั้งต่อ 5 นาที แต่พบภาวะหายใจเบาและช้ากว่าปกติ รวมทั้งมีฟองอากาศพ่นออกมาจากรูหายใจตลอดเวลา เจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ของ ศวอบ. ได้เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจสุขภาพเพิ่มเติม ผลการตรวจเลือดบ่งชี้ถึงภาวะกล้ามเนื้ออักเสบรุนแรง ภาวะแห้งน้ำ ภาวะตับอักเสบและภาวะไตอักเสบ จึงพิจารณาให้สารน้ำและยา แต่วาฬหัวแตงโมมีอาการทรุดลงอย่างต่อเนื่องและเสียชีวิตในที่สุด
เจ้าหน้าที่ ศวอบ. ชันสูตรซาก พบน้ำและฟองอากาศในหลอดลมจำนวนมาก ซึ่งบ่งบอกถึงภาวการณ์สำลักน้ำ โดยคาดว่าเกิดขึ้นระหว่างการเกยตื้น ปอดพบภาวะอักเสบปานกลาง ต่อมน้ำเหลืองบริเวณปอดขยายใหญ่สอดคล้องกับภาวะปอดอักเสบ ตับมีขนาดใหญ่กว่าปกติและพบภาวะอักเสบ สอดคล้องกับผลค่าเลือดก่อนหน้า ไตมีขนาดใหญ่กว่าปกติและพบภาวะอักเสบปานกลาง สอดคล้องกับผลค่าเลือดก่อนหน้า ท่อกรวยไตโป่งและพบปัสสาวะคั่งร่วมกับก้อนซีสต์ (Cyst) พยาธิจำนวนมากบริเวณท่อนำปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ ซึ่งอาจเกิดจากการกดทับของก้อนซีสต์ กระเพาะอาหารพบภาวะอักเสบปานกลางและพบพยาธิภายในกระเพาะ ลำไส้เล็กพบภาวะอักเสบรุนแรง และกระเพาะปัสสาวะพบภาวะอักเสบเล็กน้อย จึงสันนิษฐานสาเหตุการเสียชีวิตเบื้องต้นว่า เกิดจากการเจ็บป่วยตามธรรมชาติ ทำให้วาฬหัวแตงโมเกยตื้นและเสียชีวิตในที่สุด
ทั้งนี้ วาฬหัวแตงโม เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เมื่อมองจากด้านบนเห็นส่วนหัวรูปสามเหลี่ยม ครีบข้างเรียวปลายแหลมตั้งตรงออกจากลำตัว ลำตัวสีดำ คางและใต้ท้องแนวสะดือและช่องเพศสีขาว แถบสีจาง ตั้งแต่ช่องหายใจไปจนถึงปลายปาก ขอบปากขาว หน้ามีสีดำรูปสามเหลี่ยม โตเต็มที่ยาว 2.78 ม. และหนัก 275 กก. ลูกแรกเกิดยาวประมาณ 1 ม. ลักษณะฟันซี่เล็ก เรียวแหลม มี 20-25 คู่บนขากรรไกรบนและล่าง ตัวเมียเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 11.5 ปี (ยาว 2.35 ม.) ส่วนตัวผู้อายุ 16.5 ปี (ยาว 2.44 ม.) ออกลูกระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ระยะหย่านม 9-12 เดือน ว่ายน้ำเร็ว
วาฬหัวแตงโม ชอบรวมกลุ่มเป็นฝูงใหญ่ จำนวน100-500 ตัว อาจมากถึง2,000 ตัว พบรวมกับโลมาชนิดอื่น เช่น โลมาฟราเซอร์ เป็นต้น อาหารของวาฬแตงโม เป็นปลาขนาดเล็ก และปลาหมึก บางครั้งกินกุ้งเป็นอาหาร ถิ่นอาศัยและการแพร่กระจายเช่นเดียวกับวาฬเพชฌฆาตเล็ก บริเวณน้ำลึกในเขตร้อนและกึ่งร้อน ระหว่างเส้นรุ้งที่40oN-35oS มักมีการเกยตื้นหมู่ (Mass strandings) และพบการเกยตื้นหมู่มากที่สุดถึง 250 ตัว สำหรับประเทศไทยพบซากเกยตื้นที่ จ.ชลบุรี และสงขลา