xs
xsm
sm
md
lg

งานวิจัย Asia Pacific Board Director Barometer Report 2021 กับ 4 ประเด็นสำคัญรับมือโควิด / ไตรคอร์ กรุ๊ป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไตรคอร์ กรุ๊ป เปิดผลวิจัยผู้บริหารองค์กรชั้นนำทั่วโลก พบ 4 ประเด็นสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการองค์กรท่ามกลางความท้าทายและโอกาสภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยสำรวจการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจ (Digital Transformation) ความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ (Cybersecurity) การดำเนินงานของคณะกรรมการ การกำกับดูแลกิจการ ความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับกฎหมาย (GRC) และการวางแผนความต่อเนื่องของธุรกิจ (BCP) ในประเทศไทย

ไตรคอร์ กรุ๊ป ผู้เชี่ยวชาญด้านการขยายธุรกิจที่พร้อมด้วยองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในธุรกิจระดับโลกท้องถิ่น อาทิ องค์กร นักลงทุน ทรัพยากรบุคคลและบัญชีเงินเดือน ความน่าเชื่อถือขององค์กรและการบริหารหนี้สิน และที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจ เปิดเผยถึงงานวิจัย Asia Pacific Board Director Barometer Report 2021 ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้บริหารสามารถวางแผนธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและมีความยืดหยุ่น โดยเจาะไปที่ตลาดสำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรวมถึงประเทศไทย พบ 4 ประเด็นสำคัญต่อการบริหารจัดการองค์กร ดังนี้

ประเด็นแรก “ความสนใจเกี่ยวกับเครื่องมือด้านดิจิทัลของผู้บริหารบริษัทในไทย” พบว่า จากการสำรวจผู้บริหารบริษัทต่างๆ มีความสนใจที่จะจัดหาเครื่องมือด้านดิจิทัล หรือปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น โดยพบว่า 79% ของบอร์ดไทยกำลังมองหาเครื่องมือและอยากจะลองใช้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในโลก

จากการสำรวจความเห็นของผู้บริหารในประเทศไทยและในภูมิภาคอื่นๆ ในประเด็นด้าน Business Continuity Planning (BCP) และ Governance , Risk Management and Compliance (GRC) มีความเห็นไม่แตกต่างกัน แต่มีความแตกต่างในระดับความกังวล ตัวเลขที่พบคืออย่างประเทศไทยความกังวลเรื่องการวางแผนธุรกิจให้ต่อเนื่องของไทยอยู่ที่ 67% ส่วนประเทศที่ให้ความสำคัญกับ BCP มากที่สุดคือสิงคโปร์ซึ่งมีมากถึง 71%

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทำให้ผู้บริหารให้ความสำคัญว่า ทำอย่างไรให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ในส่วนของ GRC เป็นผลต่อเนื่องที่ตามมาเมื่อปรับเปลี่ยนมาใช้ดิจิทัล การจะบริหารจัดการดูแลอย่างไร บริหารความเสี่ยงแบบไหน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากถึง 79% ในขณะที่ทั่วโลกอยู่ที่ 73% สองประเด็นนี้เป็นประเด็นใหญ่ระดับโลกและระดับภูมิภาค

ประเด็นที่สอง “การยอมรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญภายนอกองค์กร” จากการสำรวจในครั้งนี้พบว่า หนึ่งในปัญหาหลักของประเทศไทยคือการพัฒนา BCP และ GRC ซึ่งมีความต้องการพัฒนาอยู่ในระดับที่สูง แต่มีเพียงแค่ 49% ของผู้บริหารยอมรับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญภายนอกองค์กรในการแก้ปัญหา นั่นหมายความว่ากว่า 51% ขององค์กรต่างๆ พยายามจัดการกับปัญหาและเผชิญการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลด้วยตนเอง

51% หรือเกินกว่าครึ่งของผู้บริหารในประเทศไทยพยายามแก้ปัญหาในองค์กรด้วยคนข้างในแทนที่จะหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วย ข้อนี้เป็นผลสำรวจหลักที่พบ จึงเป็นที่น่าสนใจว่าแม้ผู้บริหารจะเห็นด้วยว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด แต่การยอมรับความช่วยเหลือจากมืออาชีพหรือการได้รับการฝึกอบรมกลับมีเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำมาก

สาเหตุที่ว่าทำไมผู้บริหารจำนวน 51% ดังกล่าว จึงไม่เห็นด้วยกับการใช้องค์กรมืออาชีพจากภายนอกมาช่วยแก้ไขปัญหาหรือบริหารความเสี่ยงนั้นมีหลายปัจจัย อาทิ ความแตกต่างกันทางธุรกิจ ความเชื่อมั่นที่มีต่อฝ่ายบริหาร ความสามารถในการปรับตัวของคนในองค์กร และความเข้มแข็งขององค์กรว่ามีความพร้อมแค่ไหน

91% ของผู้บริหารในประเทศไทยต้องการการฝึกอบรมและความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญภายนอกองค์กร แต่มีเพียง 55% เท่านั้นที่ได้รับการฝึกอบรมที่จำเป็น ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำ แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงว่าอีกเกือบครึ่งขององค์กรไทยยังไม่มีความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลง และไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่ในประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

เมื่อสำรวจความมั่นใจของผู้บริหารในการบริหาร BCP/GRC ในประเทศไทยมีเพียง 52% ที่เห็นด้วยว่าฝ่ายบริหารสามารถบริหารจัดการได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยตัวเลขนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลกที่ 73% ที่เห็นด้วยว่าฝ่ายบริหารทำหน้าที่ได้อย่างดีในการรับมือกับปัญหาโควิดและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

ประเด็นที่สาม “มุมมองการเปลี่ยนแปลงด้าน Digital Transformation” คำถามอีกอย่างที่องค์กรจำเป็นต้องตอบคือหากโควิดจะอยู่เพียงชั่วคราวทำไมจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง แต่เนื่องจากโควิดเกิดความยืดเยื้อ ดังนั้น วัฒนธรรมในองค์กรจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

จากการสำรวจพบว่า ก่อนสถานการณ์โควิด ผู้บริหารจำนวนน้อยกว่า 10% ใช้การประชุมแบบออนไลน์ แต่ในช่วงวิกฤตโควิดตัวเลขนี้กระโดดไปที่ 91% ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และองค์กรกว่า 50% จะปรับเปลี่ยนเป็นการประชุมแบบไฮบริดโดยใช้เทคโนโลยีออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ แสดงให้เห็นว่าหากบริษัทมองว่าการใช้เทคโนโลยีเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือการแก้ปัญหาระยะสั้น อาจจะเป็นความเข้าใจที่ผิด

ประเด็นที่สี่ “ความสำคัญของความปลอดภัยไซเบอร์” อีกหนึ่งในผลสำรวจที่หน้าสนใจคือ 91% ของผู้บริหารในไทยกังวลเรื่องความปลอดภัยของการรั่วไหลของข้อมูลที่ใช้สื่อสารกันทางออนไลน์ในระหว่างการทำงานที่บ้าน

แม้ 91% จะเห็นว่าความปลอดภัยของข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ แต่มีแค่เพียง 61% ที่ตัดสินใจทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาหรือป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์นี้ ซึ่งถือเป็นช่องว่างที่ค่อนข้างกว้างระหว่างสิ่งที่กังวลกับการลงมือปฏิบัติ

สาเหตุที่มีเพียง 61% ตัดสินใจแก้ไขปัญหาเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นสาเหตุเดียวกันกับผลสำรวจก่อนหน้าที่มีผู้บริหารเพียง 49% ที่ต้องการใช้ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกองค์กรเข้ามาช่วย

โควิดส่งผลให้ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวเป็นออนไลน์มากขึ้น และการทำงานที่บ้านก็เป็น New Normal ดังนั้น ความปลอดภัยของข้อมูลจึงเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง จากการสำรวจพบว่าในระดับโลกมีกรณีข้อมูลที่รั่วไหลทางออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 141% จากปี 2563 และล่าสุดจะเห็นว่าบริษัทประกันยักษ์ใหญ่ก็มีเหตุการณ์ข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้ารั่วไหลออกไปจากระบบ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในไทย ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ การคุกคามหรือการโจมตีทางไซเบอร์ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวแต่เกิดขึ้นทุกวัน และพวกแฮกเกอร์ก็พัฒนาอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นผู้บริหารจึงจำเป็นจะต้องเตรียมพร้อมและดูแลความปลอดภัยทางข้อมูลของบริษัทได้

จากการสำรวจพบว่า มีเพียง 5% ของบริษัททั่วโลกที่มีความพร้อมในมาตรการป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกไม่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น โดยสิ่งที่ไตรคอร์คาดหวังคืออยากเห็นคณะผู้บริหารยอมให้ผู้เชี่ยวชาญภายนอกองค์กรเข้ามาช่วยเหลือ และมีการฝึกอบรมคณะกรรมการบริหารให้มีความรู้ด้านนี้ด้วยเช่นกัน

๐ คำแนะนำจากไตรคอร์

เลนนาร์ด ย้ง ประธานกรรมการบริหารกลุ่มไตรคอร์กรุ๊ป และดีแลน หม่า กรรมการผู้จัดการไตรคอร์ ประเทศไทย แนะนำองค์กรต่างๆ ว่า ในการรับมือความปลอดภัยทางไซเบอร์ ต้องให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานอย่างพนักงานด้วยการให้ความรู้ และฝึกอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ และหลักในการทำงานผ่านออนไลน์อย่างปลอดภัย

การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง เป็นมากกว่าการประชุมออนไลน์ ซึ่งมีการลงรายละเอียดไปถึงการใช้เอกสารออนไลน์ที่มีการเข้ารหัสความปลอดภัย และควรพิจารณาเลือกใช้โซลูชั่นการจัดการข้อมูลและความปลอดภัยให้เหมาะกับระดับความสำคัญของข้อมูลนั้นๆ

การจะทำให้ผู้บริหารหันมายอมการช่วยเหลือหรือการฝึกอบรมจากองค์กรภายนอก ควรเริ่มต้นด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญมาเช็คสุขภาพขององค์กรก่อน ทั้งในเรื่องการดูแลลูกค้าหรือการบริหารงานภายใน และฟังการประเมินว่าองค์กรภายนอกนั้นมีบริการที่สามารถตอบโจทย์ที่ผู้บริหารกำลังมองหาหรือไม่ โดยแนะนำให้ทำการประเมินย้อนหลัง 15 เดือน ผู้เชี่ยวชาญก็จะสามารถแนะนำว่าควรจะใช้เครื่องมืออะไรเข้ามาช่วย และควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านใดมาช่วยแก้ปัญหาที่องค์กรนั้นๆ กำลังเผชิญ

ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีมากสำหรับประเทศไทย เพราะผู้บริการมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนา จึงเป็นเวลาที่เหมาะสม ที่จะหาผู้เชี่ยวชาญภายนอกองค์กรมาช่วยประเมิน ให้คำปรึกษา และปรับเปลี่ยนเข้าสู่ Digital Transformation อย่างแท้จริง และการแพร่ระบาดของโควิดถือเป็นตัวกระตุ้นหนึ่งให้ Digital Transformation เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในองค์กรต่างๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น