xs
xsm
sm
md
lg

โชว์ภาพจากโดรนสำรวจ “ปะการังฟอกขาว” ครั้งแรกของไทย!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปะการังฟอกขาวที่ระยอง
ดร.ธรณ์ นำทีมสำรวจปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว โชว์ภาพถ่ายบริเวณ “หินต่อยหอย” ด้วยการใช้โดรน พร้อมนำข้อมูลไปใช้ต่อ ชี้เป็นเครื่องมือที่สุดยอดสำหรับทะเลไทย มีข้อดีมากมาย

หาดพลา จังหวัดระยอง : การสำรวจทางอากาศทำให้รู้ว่าแนวปะการังสำคัญมาก เพราะเป็นเขื่อนกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง และเรือประมงพื้นบ้าน
หลังจากมีการแจ้งข่าวจากชาวประมงเรื่องปะการังฟอกขาวที่หาดพลา จังหวัดระยอง และมีการลงสำรวจพื้นที่พร้อมเก็บข้อมูลเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อวานนี้ (2มิถุนายน2564) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat เล่าถึงการใช้โดรนในการสำรวจการเกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวว่า การสำรวจปะการังฟอกขาวด้วยการใช้โดรนเป็นครั้งแรกของเมืองไทย โดยคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ /กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง / ปตท.สผ. สำเร็จเรียบร้อย ได้ผลดีมาก โดยสำรวจบริเวณที่เรียกว่า “หินต่อยหอย” คือแนวปะการังกลางน้ำใกล้เกาะมันใน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปะการังดีที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กับ โดรนสำรวจปะการัง
โดยการสำรวจต้องวางแผนให้รอบคอบ เริ่มจากส่งโดรน “บินลาดตระเวน” ดูเขตที่อาจมีปะการังฟอกขาว ไปรอบพื้นที่ทั้งหมด เพราะโดรนที่ใช้มีแบตเตอรี่จำกัดประมาณ 20 นาที เมื่อได้พื้นที่เป้าหมายที่น่าสนใจ จึงส่งโดรนไปอีกครั้ง ครั้งนี้คือบริเวณในวงกลม และการส่งโดรนไป “สำรวจละเอียด” ต้องเลือกเวลาให้ใกล้น้ำลงต่ำสุดเท่าที่ได้


“ช่วงที่ผมไป น้ำขึ้นลงต่างกัน 1.7 เมตร หมายถึงปะการังที่เห็นปริ่มน้ำตอนเที่ยง หากมาผิดเวลาจะลึกท่วมหัวน้ำจะทำให้เรามองอะไรไม่ค่อยเห็น อีกทั้งจะใช้อินฟราเรดช่วยวิเคราะห์ก็ยาก เวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญสุดๆ”

01 สำรวจระยะไกล ดูร่องน้ำ ดูสีปะการังเป็นจุดขาว พอบอกได้ว่าตรงนั้นต้องดูละเอียด
“เมื่อโดรนกลับไปอีกครั้ง ต้องถ่ายภาพทั้งแนวดิ่งและแนวเฉียง เนื่องจากช่วงนี้น้ำลงต่ำตอนเที่ยง/บ่ายโมง แสงสะท้อนเยอะ จากนั้นเราจะกำหนดจุดเพื่อการสำรวจภาคสนาม เดินดู/ดำน้ำ เรียกว่า Ground Truthing ระหว่างนั้นจะใช้โดรนลำใหญ่ทำ mapping รายละเอียดระดับ 2 เซนติเมตร เมื่อได้ข้อมูลทั้งหมด เราจะนำมาวิเคราะห์ ตามดูปะการังฟอกขาวได้เป๊ะๆ รวมถึงแผนที่แนวปะการังที่บอกปะการังได้ก้อนต่อก้อน”

02เข้ามาใกล้ เป็นปะการังหลากสี นั่นคือการฟอกขาวระดับต่างๆ ส่วนใหญ่แค่ซีด มีโอกาสฟื้น
“โดรนมีศักยภาพสูงมาก นำไปใช้ได้มาก ทั้งสำรวจ ติดตาม ศึกษาวิจัย อนุรักษ์ ฯลฯ โดรนคือเครื่องมือที่สุดยอดสำหรับทะเลไทย ทะลวงข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะการประหยัดเวลา/คน/เงิน ในการสำรวจพื้นที่กว้างในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น ปะการังฟอกขาว”

03 เข้ามาจนเกือบถึง เห็นปะการังฟอกขาวหลายระดับ เพราะที่เดียวกันก็มีหลายตัวแปร รายละเอียดระดับนี้เราตามดูเป็นก้อนได้ หากใช้การดำน้ำสำรวจ ใช้เวลาต่างกันหลายเท่าแน่นอน
“อุปสรรคของ Drone Survey คือต้องใช้ประสบการณ์สูงมาก เพราะทะเลแปรเปลี่ยนตลอดเวลา ปัจจัยอากาศ/คลื่น/ลม/น้ำขึ้นน้ำลง ฯลฯ เราควบคุมไม่ได้ ต้องไปแก้ไขกันหน้างาน และเวลาที่ต้องทำให้ทันมีแค่ 2 ชั่วโมง พอน้ำขึ้นก็จบกัน เดือนหนึ่งลงต่ำจริง 2-3 วัน พลาดแล้วรอไปอีกเดือนได้เลย” ผศ.ดร.ธรณ์ ย้ำในตอนท้าย

04 การติดตามภาคสนาม ต้องทำคู่กันไป
ทั้งนี้ “ปะการังฟอกขาว” เกิดจากปะการังสูญเสียสาหร่ายเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ภายในเนื้อเยื่อ ชื่อว่า “ซูแซนเทลลี” (Zooxanthele) โดยปกติ เนื้อเยื่อของปะการังไม่ได้มีสีสันสวยงาม เป็นเพียงเนื้อเยื่อใสๆ เท่านั้น ส่วนที่เห็นเป็นสีสันมาจากสาหร่ายซูแซนเทลลีซึ่งจะทำหน้าที่สังเคราะห์แสง ให้ธาตุอาหารที่มีส่วนช่วยให้ปะการังเจริญเติบโต วงจรชีวิตของปะการังและสาหร่ายซูแซนเทลลีเป็นภาวะพึ่งพาอาศัยกัน หากอุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเพียง 1-2 องศาเซลเซียส นานติดต่อกันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ก็จะทำให้ปะการังเกิดความเครียด จนสาหร่ายที่คอยให้อาหารและสีสันเคลื่อนย้ายไปอยู่อาศัยที่อื่นเพื่อความอยู่รอด ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวตามมานั่นเอง แต่หากอุณหภูมิลดลง ปะการังก็อาจจะสามารถฟื้นฟูตัวเอง กลับมาเจริญเติบโตได้

นักวิจัยทางทะเลส่วนใหญ่ ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว อาจจะเป็นดัชนีสำคัญในการชี้วัดว่า อุณหภูมิน้ำทะเลกำลังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปกติน้ำทะเลในมหาสมุทรทุกแห่งทั่วโลกจะดูดซับความร้อนจากแสงอาทิตย์และสะท้อนออกไป อุณหภูมิของน้ำจึงน่าจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญอย่างเป็นรูปธรรมว่า ภาวะโลกร้อนกำลังอยู่ในความรุนแรงระดับไหน นอกจากภาวะโลกร้อน ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ค่าความเค็มของน้ำทะเลที่เปลี่ยนไป หรือมลพิษที่เกิดจากแหล่งต่างๆ ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวได้เช่นกัน

นักวิทยาศาสตร์เริ่มพบเห็นความผิดปกติของปะการังว่า มีการฟอกขาวเป็นวงกว้างทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่ปีพ.ศ.2527 จากนั้น ก็เริ่มมีรายงานการพบในการเกิดปะการังฟอกขาวในมหาสมุทรทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมีการพบเห็นปรากฏการณ์ฟอกขาวเมื่อราวปี2534 ปี2538 และปี2541 ซึ่งในปี 2541 ถูกบันทึกไว้ว่า เป็นปีที่มีปะการังฟอกขาวรุนแรง โดยเฉพาะในทะเลบริเวณอ่าวไทย บางพื้นที่พบว่ามีปะการังตายประมาณร้อยละ 80-90 แนวปะการังเป็นเสมือนพื้นที่ป่าสำคัญแห่งหนึ่งของมหาสมุทร เป็นแหล่งหากินของสัตว์น้ำนานาชนิด และจุดชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในมหาสมุทรที่โยงใยถึงกันอย่างซับซ้อน หากป่าในมหาสมุทรถูกทำลายลง ย่อมส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ไปถึงการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเลอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น