กรมอุทยานฯ เผยขยายผลการจับกุมผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่าออนไลน์ หลังตรวจยึด “ซากหนังเสือลายเมฆ” พบผู้เกี่ยวข้อง-หลักฐานเพิ่ม ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปรียบเทียบลายเสือยืนยัน เป็นตัวเดียวกันกับในกล้องดักถ่ายภาพ (Camara trap)
จากกรณีเจ้าหน้าที่หน่วยพญาเสือ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจยึดซากหนังเสือลายเมฆ 1 ผืน และจับกุมผู้กระทำผิดได้ 1 ราย เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา แต่จากการสืบสวนขยายผลกรณีดังกล่าวพบว่า มีผู้เกี่ยวข้องอีก 2 ราย ซึ่งบุคคลทั้ง 3 มีพฤติกรรมในการซื้อ ขาย จำหน่าย จ่าย แจก เพื่อประโยชน์ในทางการค้า และประกาศหรือโฆษณาหรือนำเสนอทางสื่อระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือสื่อใดๆ เพื่อการค้าซากสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
จากการตรวจค้นขยายผลเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่ยังพบนกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง 1 ตัว อยู่ในกรงบริเวณหน้าห้องเช่า เกล็ดลิ่นชวาหรือลิ่นมลายู 2 ชิ้น บริเวณห้องรับแขก และนกขุนทอง 1 ตัว อยู่ในกรงบริเวณหลังห้องเช่า ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ฐาน “ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง และซากสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” ตาม ม.17 และ ม.92 ระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้นำ “หนังสือลายเมฆ” ดังกล่าว ไปเปรียบเทียบลายกับภาพถ่ายเสือลายเมฆในธรรมชาติ จากคำให้การของผู้เชี่ยวชาญด้านการเปรียบเทียบลายเสือ ทำให้ทราบว่าเป็นตัวเดียวกับที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณสามารถบันทึกไว้ได้ด้วยกล้องดักถ่ายภาพ (Camara trap) เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ป่าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ บริเวณหลังหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ อว.3 (วังบาดาล) เนื่องจากมีลายตรงกัน
ทั้งนี้ กล้องดักถ่ายภาพ ( Camera trap) เป็นกล้องที่มีระบบการทำงานที่ควบคุมด้วยลำแสงอินฟราเรด ซึ่งจะถ่ายภาพสัตว์ที่เดินตัดผ่านระบบกล้องโดยอัตโนมัติ แล้วนำภาพสัตว์ป่าที่ได้มาศึกษาการประเมินความหนาแน่นของประชากรสัตว์ป่า โดยใช้ข้อมูลการถ่ายภาพของสัตว์ป่าร่วมกับการเดินสำรวจลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่
สำหรับจุดสำรวจหรือจุดตั้งกล้องจะถูกกำหนดบนแผนที่ให้กระจายครอบคุลมทั่วพื้นที่ศึกษา ให้แต่ละจุดอยู่ห่างกันประมาณ 3-4 กิโลเมตร แล้วเข้าสำรวจพื้นที่ตามเส้นทางตรวจการณ์ และทางด่านสัตว์ในบริเวณที่กำหนด เพื่อเลือกหาตำแหน่งที่เหมาะสำหรับติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพและมีโอกาสจะถ่ายภาพสัตว์ป่าได้มากที่สุด โดยพิจารณาจากความถี่ของการปรากฏและความใหม่ของร่องรอยสัตว์ป่า เช่น รอยตีน รอยคุ้ย กองมูล และรอยพ่นฉี่ (spray) ในบริเวณนั้น โดยแต่ละจุดสำรวจจะติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติจุดละ 2 ตัวอยู่ตรงข้ามกันและห่างจากเส้นทางเดินสัตว์ 3-5 เมตร ให้เครื่องส่งลำแสงอินฟราเรดสูงจากพื้นดิน 45 เซนติเมตร ในแต่ละจุดใช้เวลาตั้งกล้องทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน และตรวจสอบการทำงานของกล้องทุกๆ 1-3 วัน เมื่อครบกำหนดแล้วนำมาอัดขยายภาพเพื่อจำแนกชนิดสัตว์ บันทึกข้อมูลตำแหน่ง วันที่ เวลา เพศและอายุของสัตว์ที่สามารถถ่ายภาพไว้ได้
สำหรับการวางแผนการตั้งกล้องดักภาพถ่ายอย่างเป็นระบบทั่วทั้งบริเวณพื้นที่ศึกษาในเขตพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติ และรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจะดำเนินการสำรวจทุกปี ทำให้ทราบถึงความหนาแน่นของประชากรสัตว์ป่าและสามารถติดตามแนวโน้มของประชากรสัตว์ป่าในพื้นที่ได้
ที่มา : เพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช