xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ โชว์โมเดล “จัดการแยกขยะ ณ จุดอีเวนต์” จุดทานอาหารของเจ้าหน้าที่-อาสาสมัครที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ณ อาคารจามจุรี 9 -จามจุรีสแควร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทีมงาน Chula Zero Waste และกลุ่มเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งเข้าไปจัดการขยะในศูนย์บริการฉีดวัคซีนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งในอาคารจามจุรี 9 และในจามจุรีสแควร์ ณ จุดทานอาหารของเจ้าหน้าที่-อาสาสมัครที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้วยมาตรการจัดการขยะอย่างมีแบบแผน (เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา)

หลายคนอาจนึกไปว่าทำไมถึงไม่เลือกจัดการขยะที่เกิดจากฉีดวัคซีน ทางทีมงาน Chula Zero Waste ก็บอกว่า เนื่องจากขยะจำพวก เข็ม สำลี ไซริงค์ นั้นมีมาตรการส่งไปกำจัดอย่างถูกวิธีอยู่แล้ว เพราะถือว่าเป็นประเภทขยะติดเชื้อ

“ทว่า ณ จุดรับประทานอาหารของเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครที่เข้ามาทำงานชั่วคราวต่างหากที่อาจกลายเป็นพื้นที่ลี้ลับที่หลายคนอาจไม่ทันนึกถึง และถ้าไม่ได้มีการจัดการแล้วขยะจำนวนมหาศาลจะถูกส่งไปที่บ่อขยะทันที”

"บริเวณทานอาหารของเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครที่ไปให้บริการการฉีดวัคซีน"
ในแต่ละวันจะมีเจ้าหน้าที่ และอาสาประมาณ 200 คน ขยะส่วนใหญ่มาจากการกิน การดื่ม หนีไม่พ้นประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ช้อน ส้อม กล่องขนม ซองน้ำจิ้ม ถุงพริกน้ำปลา ไม้จิ้มขนม แก้วเครื่องดื่ม หลอด ซอง 3 in 1 เป็นต้น ซึ่งในภาวะเช่นนี้หากเราไปขอให้ช่วยกันลดใช้ก็คงทำให้หลายๆ ฝ่ายไม่สบายใจ สิ่งที่ทำได้ก็คือพยายามแยกขยะที่ยังมีประโยชน์ ไม่ให้ถูกส่งไปที่บ่อขยะ




ทีมงาน Chula Zero Waste จึงได้นำระบบที่ใช้ในโรงอาหารหลักในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาปรับใช้ในพื้นที่นี้ อาจแตกต่างกันที่ปลายทางนิดหน่อยโดยมีวิธีการคัดแยกดังนี้

1 เท, เขี่ย เศษอาหารลงในถังแยกเศษอาหาร (ในจามจุรีสแควร์ต่างกับปรกตินิดหน่อย เพราะปลายทางไม่ได้ส่งไปเป็นอาหารสัตว์ ก็พอจะทิ้งพวกใบตองลงไปได้)


2 ทิ้ง ถุงน้ำจิ้ม พริกน้ำปลา กระดาษเช็ดปากลงในถังขยะทั่วไป


3 ทิ้ง กล่องอาหาร ช้อนส้อม ไม้จิ้ม ตะเกียบ ลงในถัง Recycle+ เพื่อส่งเป็นพลังงานทดแทน


4 เท น้ำ น้ำแข็ง ลงในถังแยกน้ำ และน้ำแข็ง


5 ทิ้งหลอด แก้ว ฝาครอบ ลงในถัง Recycle+ เพื่อส่งเป็นพลังงานทดแทน


6 ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋องอลูมิเนียม ถ้ายังมีมีน้ำอยู่ให้เทน้ำออก แล้วทิ้งในถังขยะรีไซเคิล เพื่อรวบรวมขาย รายได้เป็นของกลุ่มแม่บ้าน, เจ้าหน้าที่ดูแลพื้นที่นั้น


(ถัง Recycle+ ที่ส่งเป็นพลังงานทดแทน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินงาน และพัฒนาระบบการทำงานมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ทำให้ขยะที่รวบรวมไม่ต้องสะอาดมาก ไม่มีเศษอาหารเหลือให้เน่าเหม็นก็รับไหว)

ทีมงาน Chula Zero Waste บอกว่าเมื่อหาปลายทางการจัดการขยะที่เหมาะสมกับพื้นที่ได้ ก็จัดพื้นที่การจัดวางถัง และเพิ่มขั้นตอนให้ผู้ใช้บริการแยกเศษอาหารอีกนิดก็สามารถลดปริมาณขยะที่จะถูกส่งไปบ่อขยะได้มาก ซึ่งการจัดการขยะรูปแบบนี้สามารถไปปรับใช้ในศูนย์อาหาร หรือพื้นที่ทานภายในอาหารได้

ตรงนี้เราอยากให้องค์กรเข้ามาเรียนรู้จากข้อมูลการจัดการขยะในโรงอาหารหลักของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ตามลิ้งก์ได้เลย https://www.facebook.com/chulazerowaste/posts/2896950453855411

สำหรับการจัดการคัดแยกขยะในครั้งนี้ กำลังสำคัญที่ทีมงาน Chula Zero Waste ต้องขอขอบคุณ ก็คือเจ้าหน้าที่ทำความสะอาด ที่คอยมาดูแลความเรียบร้อย คอยเปลี่ยนถุงขยะที่ล้นออก จัดการให้บริเวณนั้นดูสะอาดอยู่เสมอ

“เพราะถ้าขยะล้นถังเมื่อใดประสิทธิภาพในการแยกขยะของผู้ทิ้งคนต่อไปจะลดลงทันที รวมถึงต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่อาสาทุกคนที่เสียสละเวลามาช่วยงานในศูนย์การฉีดวัคซีน พร้อมความร่วมมือในการแยกขยะอีกด้วย”


ข้อมูลอ้างอิง CHULA Zero Waste


กำลังโหลดความคิดเห็น