xs
xsm
sm
md
lg

ผืนป่าโลกฟื้นตัว! ขนาดเทียบเท่าฝรั่งเศส กลับมาเขียวชะอุ่มในช่วง 20 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พื้นที่ขนาดโดยประมาณเทียบเท่าประเทศฝรั่งเศส ได้เติบโตขึ้นใหม่ในป่าแอตแลนติกของบราซิลตั้งแต่ปี 2000 (Photo Credit : Getty)
งานวิจัยธรรมชาติล่าสุดโดยโครงการ Trillion Trees เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง WWF, BirdLife International และ Wildlife Conservation Society (WCS) ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลภาพจากดาวเทียมตั้งแต่ปี 2000 (พ.ศ.2543) พบพื้นที่ป่าขนาดเกือบ 59 ล้านเฮกตาร์ (หรือ 370 ล้านไร่) ลากยาวตั้งแต่ผืนป่าในประเทศมองโกเลีย ไปจนถึงตอนใต้ของบราซิล “มีขนาดเทียบเท่ากับประเทศฝรั่งเศส” ได้ฟื้นตัวตามธรรมชาติโดยกลับมาเขียวชะอุ่มอีกครั้ง

พื้นที่ป่าทั้งหมดถูกพบว่า มีศักยภาพดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 5.9 กิกะตัน หรือมากกว่าปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาปล่อยในแต่ละปี

จากงานวิจัยพบว่า กว่า 20 ปีที่ผ่านมา ป่าแอตแลนติกในบราซิลได้ฟื้นกลับคืนมามากว่า 4.2 ล้านเฮกตาร์ (26 ล้านไร่) ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่เท่ากับประเทศเนเธอร์แลนด์ ในขณะที่ป่าไม้เขตหนาว (Boreal Forest) ทางตอนเหนือของมองโกเลีย ฟื้นตัวกลับมากว่า 1.2 ล้านเฮกตาร์ (7.5 ล้านไร่) พื้นที่ป่าในแอฟริกากลาง และประเทศแคนาดา ก็มีรายงานว่า ฟื้นตัวกลับมาเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การปล่อยให้ผืนป่าได้ฟื้นฟูตามธรรมชาตินับเป็นทางเลือกในการลดผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ดีที่สุด เนื่องจากผืนป่าเดิมนั้น มีความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยคงความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพได้มากกว่า อีกทั้ง การปล่อยให้ป่าไม้ฟื้นกลับมาด้วยตัวเองมีต้นทุนถูก และยังเปิดโอกาสให้สัตว์ป่า และต้นไม้ท้องถิ่นกลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง

แต่น่าเศร้าที่ในปัจจุบัน ปัญหาการสูญเสียพื้นทีป่าไม้ยังคงเกิดขึ้นใน “อัตราที่น่ากลัว” หรือกล่าวอย่างง่าย ๆ ว่า #เราสูญเสียพื้นที่ป่ารวดเร็วเกินกว่าที่ป่าจะสามารถฟื้นฟูกลับมาได้ทัน แต่เมื่อใดก็ตามที่เราช่วยกันขจัดสิ่งรบกวนพื้นป่าได้ (เช่น การควบคุมพื้นที่ทำการเกษตรและปศุสัตว์ การล้อมรั้วป้องกันวัว หรือควายเล็มหญ้า เป็นต้น) ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ ‘ก๊าซเรือนกระจก’ ที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ราว 1 ใน 3 ในแต่ละปี

ข้อมูลอ้างอิง
WWFThailand
https://www.independent.co.uk/climate-change/news/forest-natural-regeneration-brazil-mongolia-b1845543.html



Credit Clip News Time


กำลังโหลดความคิดเห็น