พระเทพปวรเมธี ประกาศเดินหน้าพัฒนา "วัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ" ตั้งเป้าหมายให้เป็น “วัดบันดาลใจ” และ “แลนด์มาร์คใหม่ของคนชอบทำบุญ” เพื่อชาวพุทธทั้งพระสงฆ์และฆราวาส มุ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชน แหล่งเรียนรู้ธรรมะ รักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น และเกื้อหนุนสังคม
พระเทพปวรเมธี (ประสิทธิ์ พฺรหฺมรํสี) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส ในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ได้มีประกาศตั้ง “วัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ” อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.2563 ตามนโยบายของพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อดีตอธิการบดี มจร.
วัดดังกล่าวตั้งอยู่ภายใน มจร. อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งในขณะที่พระพรหมบัณฑิต ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมจร. ได้มอบหมายความรับผิดชอบการสร้างวัดให้ตนดำเนินงาน เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่มาปฏิบัติงานและเรียนหนังสือที่มจร. ทั้งยังได้รับความเมตตาจากพระพรหมมังคลาจารย์ หรือหลวงพ่อปัญญา อดีตเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ จ.นนทบุรี เป็นเจ้าภาพสร้างอุโบสถกลางน้ำ และเสนาสนะอื่นๆ ในวัดด้วย
ทั้งนี้ วัดมหาจุฬาฯ จะต้องเน้นทำบทบาทสำคัญ 2 ประการ คือ การสนองงานพันธกิจคณะสงฆ์ และการสนองงาน มจร. ด้านบริการวิชาการด้านพระพุทธศาสนา
พระเทพปวรเมธี กล่าวต่อไปว่า สำหรับแผนพัฒนาวัดมหาจุฬาฯ มีเป้าหมายจะสร้างวัดมหาจุฬาฯ ให้เป็น “วัดบันดาลใจ” โดยขณะนี้มีอุโบสถ์กลางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ สามารถรองรับพระสงฆ์ที่เป็นผู้บริหาร คณาจารย์ รวมทั้ง พระนิสิตทั้งในและต่างประเทศได้มากกว่า 4,000 รูป ส่วนศาลาการเปรียญได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีการออกแบบมาเพื่อประโยชน์ใช้สอย ทั้งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ที่พักอุบาสก อุบาสิกา ทั้งยังเป็นสถานที่ทำบุญเลี้ยงพระได้อีกด้วย ส่วนพื้นที่หน้าอุโบสถกลางน้ำจะจัดทำเป็นลานธรรมสำหรับการปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ ในบรรยากาศร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ และคาดว่าจะดำเนินการตามแผนงานนี้ให้เสร็จภายในเวลา 2 ปี
“ด้วยความตั้งใจจะสร้างวัดมหาจุฬาฯ ให้เป็นวัดต้นแบบ เหมือนกับแนวทางปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาตามที่เคยเสนอเอาไว้คือ วัดต้องเป็นศูนย์กลางของชุมชน ทั้งเรื่องการอำนวยความสะดวก เรื่องการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่องการเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมะ และในอนาคต วัดแห่งนี้ก็จะมีหลักสูตรทั้งเรื่องนักธรรมและบาลี เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่ความเป็นพระนิสิต รวมทั้ง การเป็นสถานที่อบรมให้กับคณาจารย์ใน มจร. โดยเป็นการทำงานควบคู่ไปกับมจร.”