xs
xsm
sm
md
lg

“พระมหากรุณาธิคุณต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน” ทำให้วันนี้ระบบนิเวศป่าสมดุลอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า ทรัพยากรป่าชายเลนอันสมบูรณ์ของประเทศไทยในวันนี้ เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีสายพระเนตรอันยาวไกล ทรงเล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากรป่าชายเลนที่มีความสำคัญ และคุณค่าอันมากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม

เมื่อวานนี้ (10 พ.ค.2564) วันป่าชายเลนแห่งชาติ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่10 พฤษภาคม 2534 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับป่าชายเลนเป็นครั้งแรก ในพระราชพิธีแรกนาขวัญหว่านข้าว ณ บริเวณสวนจิตรลดา ความตอนหนึ่งว่า "...ป่าชายเลนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศของพื้นที่ชายฝั่งทะเลและอ่าวไทย แต่ปัจจุบันป่าชายเลนของประเทศไทยเรากำลังถูกบุกรุกและถูกทำลายลงไปโดยผู้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน จึงควรหาทางป้องกัน อนุรักษ์ และขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นโกงกาง เป็นไม้ชายเลนที่แปลกและขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก เพราะต้องอาศัยระบบน้ำขึ้นน้ำลงในการเติบโตด้วย จึงขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องคือ กรมป่าไม้ กรมประมง กรมชลประทาน และกรมอุทกศาสตร์ ร่วมกันหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการทดลองขยายพันธุ์โกงกางและปลูกสร้างป่าชายเลนกันต่อไป..."

เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด ในการทรงงาน ตามรอยเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระชนกนาถ เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎร

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรีภายใต้การบริหารงานของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น "วันป่าชายเลนแห่งชาติ" ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ อันแสดงถึงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้น้อมนำแนวพระราชดำรัสมาดำเนินงาน เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนอันได้แก่ การประชาสัมพันธ์ รณรงค์ปลูกป่าชายเลน และฟื้นฟูป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาพื้นที่ป่าชายเลนของประเทศให้ยังคงความสมบูรณ์ และฟื้นฟูป่าชายเลนที่เสื่อมโทรมให้คงความสมบูรณ์ดังเดิม ซึ่งการดำเนินงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิทักษ์ รักษา และฟื้นฟูเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

เนื่องในวันป่าชายเลนแห่งชาติ 10 พฤษภาคม 2564 รัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ได้ช่วยกันอนุรักษ์ ดูแล ป้องกันรักษา และปลูกฟื้นฟูป่าชายเลนให้คงความอุดมสมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อให้ป่าชายเลนได้เอื้อประโยชน์ สร้างความสุข สร้างรายได้ ให้พี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืนตลอดไป และขอเชิญร่วมกันปลูกป่าชายเลน โดยติดต่อขอรับกล้าไม้ป่าชายเลนฟรี ได้ที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1-10 และศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนทั่วประเทศ

ถามว่า..ระบบนิเวศป่าชายเลนสำคัญอย่างไร
ป่าชายเลน (mangrove forest หรือ intertidal forest) หมายถึง กลุ่มสังคมพืชที่ประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิดที่ไม่ผลัดใบหรือมีใบเขียวชอุ่มตลอดปี (evergreen species) มีลักษณะทางสรีระและความต้องการสิ่งแวดล้อมที่คล้ายกัน พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้สกุลโกงกาง (Rhizophora) เป็นระบบนิเวศที่อยู่ในแนวเชื่อมต่อระหว่างผืนแผ่นดินกับพื้นน้ำทะเลในเขตร้อน (Tropical) และกึ่งร้อน (Subtropical) ของโลกประกอบด้วยสังคมพืชและสัตว์หลากชนิด ซึ่งดำรงชีวิตร่วมกันภายใต้สภาพแวดล้อมที่เป็นดินเลนน้ำกร่อย และมีน้ำทะเลท่วมถึงอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น ป่าชายเลนจึงพบได้ในบริเวณที่เป็นชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำ อ่าว ทะเลสาบ และรอบเกาะแก่งต่างๆ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล เราจึงเรียก ป่าชายเลนว่า “ป่าโกงกาง” ได้อีกชื่อหนึ่งตามพันธุ์ไม้สำคัญและพบเป็นจำนวนมาก นั่นคือ ไม้โกงกาง

“ระบบนิเวศป่าชายเลน เป็นระบบนิเวศที่อยู่ในแนวเชื่อมต่อ (ecotone) ระหว่างผืนแผ่นดินกับพื้นน้ำทะเลในเขตร้อน (tropical region) และกึ่งร้อน (subtropical region) เป็นระบบที่นำเอาทรัพยากรน้ำ ดิน และแร่ธาตุต่างๆ จากบกและทะเลมาปรุงแต่งให้เป็นแหล่งทรัพยากรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและคุณค่าสูง ขณะเดียวกันตัวเองจะทำหน้าที่เป็นป้อมปราการที่คอยปกป้องและรักษาไว้ซึ่ง ความสมดุลของสิ่งแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการเป็นแหล่งกำเนิดห่วงโซ่อาหาร (food chain) ของมวลมนุษย์ชาติอย่างยั่งยืนนั่นเอง”

ข้อมูลอ้างอิง
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
http://andaman.fish.ku.ac.th/