การลักลอบล่าแรดในแอฟริกาใต้กำลังเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ด้วยวิธีการอันโหดร้าย ปล่อยให้ตายอย่างทรมาน หลังจากรัฐบาลเริ่มผ่อนปรนข้อจำกัดการเดินทาง เมื่อวิกฤตการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาลดลง พบจำนวนประชากรลดลดลงกว่า 2 ใน 3
แม้การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด -19 จะเป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงครั้งใหญ่ของมนุษย์ แต่สำหรับสัตว์ป่ากลับส่งผลดี รวมทั้ง “แรด” ในประเทศแอฟริกาใต้ โดยในปี 2020 พบว่า มีจำนวนแรดถูกลักลอบล่า 394 ตัว ซึ่งน้อยกว่าปีก่อน 30% และถือเป็นจำนวนที่น้อยที่สุด นับตั้งแต่ปี 2010 เนื่องจากการควบคุมการเดินทางอย่างเข้มงวด แต่หลังจากที่รัฐบาลแอฟริกาใต้เริ่มผ่อนปรนการควบคุมการเดินทางเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว(ค.ศ.2020) ส่งผลให้การลักลอบล่าแรดเพิ่มขึ้นอย่างมาก
บ่อยครั้งที่ การลักลอบล่าแรดมักจะเกี่ยวข้องกับทั้งผู้ลอบล่าสัตว์ในท้องถิ่นและกลุ่มอาชญากรระหว่างประเทศที่ลักลอบนำเข้าสินค้ามูลค่าสูงข้ามพรมแดน เพื่อไปยังเอเชียซึ่งมีความต้องการสูง สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีการล่าแรดด้วยวิธีการโหดร้าย บางครั้งแรดถูกยิงยาสลบก่อน เพื่อตัดนอ แล้วปล่อยให้เลือดออกจนตาย ดังนั้น อุทยานหลายแห่งจึงใช้วิธีการตัดนอแรดเพื่อป้องกันการลักลอบตัด แต่เหลือส่วนโคนไว้เพื่อป้องกันไม่ให้แรดเลือดไหลจนตาย
กระทรวงสิ่งแวดล้อมของแอฟริกาใต้ คาดว่าจะเปิดเผยตัวเลขการลักลอบล่าสัตว์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ในปลายเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าประเทศแอฟริกาใต้มีแรดอยู่ประมาณ 16,000 ตัว อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากอุทยานแห่งชาติแอฟริกาใต้ระบุว่า การล่าอย่างไม่หยุดยั้งและภัยแห้งได้ส่งผลกระทบต่อประชากรแรดอย่างหนัก โดยพบว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แรดในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ มีจำนวนลดลงกว่า 2 ใน 3 โดยเหลืออยู่ประมาณ 3,800 ตัว ในปี 2562 จากที่มีอยู่ประมาณ 11,800 ตัว ในปี 2551 ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ที่มา - Reuters
https://www.reuters.com/world/africa/rhino-poachers-are-back-after-south-africa-eases-lockdown-restrictions-2021-05-03/?fbclid=IwAR39TstvIMNgpSIhhG8bhYIgsRVJcPiqwvgVHOOo6XmxAB_V1bdaImFGQ78