นวัตกรรม “ชุดหุ่นจำลองกายวิภาคตาสุนัขแบบสามมิติเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง” (3D Dog Eye Anatomy Model for Self-learning) ผลงานของอาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับรางวัล “เหรียญทอง IWA 2020, Gold Award (Medal and Award Certificate), Rabat, Morocco” ในงานประชุมระดับนานาชาติ Innovation Week Africa, IWA 2020” ที่เมืองราบัต สาธารณรัฐประเทศโมร็อกโก เมื่อเร็วๆ นี้
นวัตกรรมดังกล่าวเป็นผลงานของ ผศ.สพ.ญ.ภาวนา เชื้อศิริ , รศ.น.สพ.ดร.เกรียงยศ สัจจเจริญพงษ์ , นางจันทิมา อินทรปัญญา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ ด.ช.กฤตยชญ์ เชื้อศิริ โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม ชุดหุ่นจำลองกายวิภาคตาสุนัขแบบสามมิติ ประกอบด้วย ลูกตา หนังตา ต่อมน้ำตา กล้ามเนื้อลูกตา และเส้นประสาทที่ชัดเจน จำนวน 4 ชิ้น
ผศ.สพ.ญ.ภาวนา เชื้อศิริ หนึ่งในผู้พัฒนาชุดหุ่นจำลองตาสุนัขสามมิติ กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการคิดค้นนวัตกรรมนี้ว่า เกิดจากข้อจำกัดในการใช้ดวงตาจากร่างสัตว์อาจารย์ใหญ่ในการเรียนการสอนนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งดวงตาจากร่างสัตว์อาจารย์ใหญ่เป็นอวัยวะที่ไม่สามารถคงรูปอยู่ได้นาน มีขนาดเล็กและซับซ้อนมาก ทำให้ยากต่อการศึกษากายวิภาคเพราะมองไม่เห็น อีกทั้งเมื่อนิสิตขาดทักษะความชำนาญในการผ่าชำแหละ จึงมักทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างสำคัญ จนไม่สามารถนำอวัยวะมาใช้ต่อได้อีก ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้เรียนไม่สามารถเข้าใจในเนื้อหาบทเรียนได้อย่างเต็มที่ จึงเป็นที่มาของนวัตกรรมนี้ซี่งสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้
สำหรับกระบวนการผลิตนั้นเริ่มจากการออกแบบผ่านโปรแกรมสามมิติ โดยอิงจากตาของสุนัขจริงเป็นต้นแบบ จากนั้นจึงนำมาขึ้นรูปผ่านเครื่องพิมพ์สามมิติ โดยออกแบบให้แต่ละส่วนสามารถถอดประกอบกันได้อย่างอิสระ และเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างกันเทลงบนแม่พิมพ์ เช่น เรซิ่น ยางพารา พลาสติก ให้มีผิวสัมผัสนุ่มหยุ่นคล้ายกับลูกตาจริง หลังจากนั้นจึงมาหล่อแบบ และลงสีให้มีความแตกต่างชัดเจนในแต่ละส่วน
“การออกแบบชุดหุ่นจำลองเป็นจิ๊กซอว์ทำให้เรามองเห็นได้หมดทุกชั้น ในดวงตาแต่ละข้างก็จะถอดออกในมิติต่างๆ ได้ เพื่อแสดงให้เห็นได้ทั้งพื้นผิวด้านนอกและด้านใน รวมทั้งด้านหน้ากับด้านหลัง ซึ่งก็จะทำให้เห็นเส้นประสาทและกล้ามเนื้อได้ทุกมัด” ผศ.สพ.ญ.ภาวนา กล่าว
สำหรับจุดเด่นของนวัตกรรมนี้ ผศ.สพ.ญ.ภาวนากล่าวว่า เป็นสื่อการสอนระบบตาสุนัขที่ขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นจากปกติ มีการแบ่งสีในแต่ละส่วน สามารถถอดออกเพื่อศึกษาโครงสร้างได้ทั้งภายนอกและภายใน ขณะเดียวกันก็สามารถประกอบกลับรูปเดิมได้เหมือนกับจิ๊กซอว์ มีคุณภาพดี น้ำหนักเบา ทนทาน กันน้ำ ปลอดภัย เก็บรักษาได้นาน ราคาไม่สูง และสะดวกต่อการใช้งาน ซึ่งจะทำให้นิสิตสามารถจดจำโครงสร้างของตาสุนัขได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนเพื่อทดแทนตาสุนัขจริงได้ รวมทั้งสามารถใช้ได้กับสมาร์ทโฟนในการศึกษาด้วยตนเองได้อีกด้วย
ปัจจุบันได้มีการนำนวัตกรรมดังกล่าวมาใช้เป็นสื่อการสอนแก่นิสิตคณะสัตวแพทยศษสตร์ จุฬาฯ เพื่อเสริมและทดแทนอวัยวะที่ขาดแคลน หรือร่างอาจารย์ใหญ่ที่ดองด้วยน้ำยาฟอร์มาลีน ซึ่งจะมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน อีกทั้งผู้เรียนสามารถทบทวนด้วยตนเองได้ โดยใช้งานร่วมกับโปรแกรมสื่อสามมิติ ที่สามารถสแกน AR code ผ่านคอมพิวเตอร์ มือถือสมาร์ทโฟน หรือแทปเล็ตได้
เป้าหมายในอนาคตจะผลิตชิ้นงานให้มีจำนวนที่เพียงพอต่อการเรียนการสอน และการใช้งานในระดับคลินิก ซึ่งสัตวแพทย์สามารถนำหุ่นจำลองไปประกอบการอธิบายเกี่ยวกับพยาธิสภาพของสัตว์ได้อีกด้วย นอกจากนี้จะพัฒนาต่อยอดการสร้าง ออกแบบ หุ่นจำลองทางกายวิภาคในอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนกายวิภาคทางสัตวแพทย์มีประสิทธิภาพการเรียนรู้สูงสุด รวมทั้งจะติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเพิ่มแอปพลิเคชั่นเพื่อสร้างความน่าสนใจและให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น
นอกจากนวัตกรรมที่เป็นสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยแล้ว คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ยังจัดให้มีส่วนจัดแสดงกายวิภาคทางสัตวแพทย์ ที่ชั้น 3 อาคาร 60 ปี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ด้านกายวิภาคศาสตร์ทางสัตวแพทย์ที่สมบูรณ์ สำหรับนิสิตและผู้สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้ หรือใช้เป็นแหล่งค้นคว้าอ้างอิงทางวิชาการได้
ส่วนจัดแสดงกายวิภาคทางสัตวแพทย์ ประกอบด้วย แผนผัง โมเดลจำลองกายวิภาคสัตว์ โครงกระดูกและร่างสตัฟฟ์ของสัตว์ต่างๆ ซึ่งมีการจัดเรียงไว้อย่างเป็นระบบ นอกจากจะเข้ามาชมได้ด้วยตนเองแล้ว คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ยังได้พัฒนาเว็บไซต์ทัวร์เสมือนจริง 360 องศาของส่วนจัดแสดงกายวิภาคทางสัตวแพทย์อีกด้วย ซึ่งจะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชมในยุค New Normal ได้เป็นอย่างดี
สามารถเยี่ยมชมส่วนจัดแสดงในรูปแบบ Virtual tour 360 องศา รวมทั้งคลังความรู้ด้านกายวิภาคศาสตร์ได้ที่ http://www.exhibitant.vet.chula.ac.th/
ส่วนจัดแสดงกายวิภาคทางสัตวแพทย์ เวลาทำการ จันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น.
ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร: 0-2218-9696, 0-2218-9658