xs
xsm
sm
md
lg

แร้งเนปาลตายหมู่!! พบ 67 ตัว อาจกินซากสุนัขที่ถูกวางยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักอนุรักษ์เผยรายงาน ระบุ “ยาพิษ” เป็นภัยคุกคามใหญ่ที่สุดสำหรับแร้งทั่วโลก ล่าสุด “แร้งเนปาล” นักกำจัดซากในธรรมชาติตายหมู่ พบสาเหตุอาจกินซากสุนัขที่ถูกวางยา

“แร้ง”เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญในห่วงโซ่อาหาร เป็นนักกำจัดซากเน่าเสีย ช่วยหยุดการขยายพันธุ์ของโรคระบาดที่มาจากสัตว์ป่า ช่วยสร้างความสมดุลในระบบนิเวศอันสำคัญต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงคือ การตายหมู่จากการกินซากสัตว์ที่ปนเปื้อนยาพิษ โดยมนุษย์เป็นผู้กระทำ

โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 ในเขต Nawalparasi ประเทศเนปาล พบ “แร้ง” ตายอย่างน้อย 67 ตัว และตามข้อมูลที่รวบรวมจากคนในพื้นที่ ระบุว่าแร้งเหล่านี้กินซากสุนัขที่ถูกวางยา

ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีรายงานการใช้ยาพิษที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าทั่วแอฟริกาและเอเชียเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตามปกติเหยื่อพิษจะถูกนำมาใช้เพื่อฆ่าสัตว์นักล่า เช่น หมาจิ้งจอก และหมาป่า เพื่อปกป้องปศุสัตว์ แต่การกระทำเช่นนี้ส่งผลต่อแร้งซึ่งเป็นสัตว์กินซาก
ตามแผนปฏิบัติการเพื่ออนุรักษ์แร้งแอฟริกัน - ยูเรเชีย ซึ่งพัฒนาร่วมกันโดย Vulture Conservation Foundation (VCF) และรับรองโดย CMS พบว่า “ยาพิษ” เป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดสำหรับแร้งทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย “พญาแร้ง” ฝูงสุดท้ายที่ห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติเกือบ 30 ปีแล้ว ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 เมื่อพญาแร้งทั้งฝูง 35 ตัว ลงมากินซากเก้งปนเปื้อนยาพิษที่พรานป่าวางไว้เพื่อล่อเสือโคร่ง ทำให้นักกำจัดซากผู้สร้างสมดุลในระบบนิเวศให้กับธรรมชาติต้องจบชีวิต 

แต่ยังมีโอกาสที่ “พญาแร้ง” ในไทยจะฟื้นคืนสู่ธรรมชาติ เพราะยังมีพ่อแม่พันธุ์ 5 ตัว ได้รับการดูแลอยู่ในสวนสัตว์นครราชสีมา และมีโครงการเพาะพันธุ์เพื่อนำสู่ธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม พญาแร้งในธรรมชาติจะวางไข่ 2 ปี เพียง 1 ฟองเท่านั้น แต่ในการเพาะพันธุ์ อาจวางไข่ได้ทุกปี ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น วัย และอาหารที่อุดมสมบูรณ์


ทั้งนี้ ปัจจุบันมีความร่วมมือจากหลายหน่วยงานพันธมิตรภายใต้โครงการที่มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์พญาแร้งนอกถิ่นอาศัย หมายถึงในสวนสัตว์และสถานีเพาะเลี้ยง ให้มีประชากรที่เพียงพอต่อการปล่อยสู่ธรรมชาติ เพื่ออนุรักษ์พญาแร้งในถิ่นอาศัย บริเวณพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่นเรศวร -ห้วยขาแข้ง โดยมี 4 องค์กรหลักดำเนินการ ได้แก่ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ที่มา - www.4vultures.org
www.seub.or.th


กำลังโหลดความคิดเห็น